ชี้ราคา LPG ตลาดโลกยังพุ่งสูง หากรัฐช่วยตรึงราคาต่อถึงสิ้นปี ต้องขยายวงเงินเพิ่มอีก 3,000 ล้าน

3663
- Advertisment-

ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) โลกยังพุ่งสูงถึง 671 เหรียญสหรัฐฯต่อตันหรือ 381 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ส่งผลกองทุนน้ำมันฯพยุงราคาเพิ่มขึ้นอีก 63 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม โดย สนพ.ระบุหากราคาไม่เกิน 700 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ยังช่วยตรึงราคาได้ถึงสิ้นปี 2564 แต่ต้องขยายกรอบวงเงินดูแลราคา LPG เพิ่มขึ้นอีก 3,000-4,000 ล้านบาท จากกรอบเดิม 18,000 ล้านบาท ส่วนคาดการณ์ความต้องการใช้ภาคครัวเรือนทั้งปี 2564 ยังอยู่ที่ 2.05 ล้านตันหรือเพิ่มขึ้น 0.9 % จากปี 2563

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาก๊าซหุงต้ม(LPG)โลกยังทรงตัวระดับสูง ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 671 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ส่งผลให้ราคาขายปลีกที่แท้จริงอยู่ที่ 381 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าที่ภาครัฐกำลังตรึงราคาไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ถึง 63 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม

ดังนั้นจึงส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องใช้เงินเพื่อตรึงราคา LPG เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามหากราคา LPG ไม่เกิน 700 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน กองทุนฯยังสามารถดูแลราคา LPG ได้จนถึงสิ้นปี 2564 นี้ แต่อาจต้องขยายกรอบวงเงินอุดหนุนราคา LPG เพิ่มขึ้นจาก 18,000 ล้านบาท เป็น 21,000-22,000 ล้านบาท หรือขยายกรอบวงเงินเพิ่มอีก 3,000-4000 ล้านบาท

- Advertisment -

โดย​สาเหตุที่ราคา LPG โลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะวิกฤติโลกร้อนส่งผลให้ช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมามีช่วงเวลายาวนานทำให้หลายประเทศต่างมีความต้องการใช้ LPG เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมีการใช้มากขึ้นในภาคปิโตรเคมีและภาคอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีผลิตพลาสติก เป็นต้น และทำให้ราคาสูงขึ้นมาก

ทั้งนี้มาตรการตรึงราคาขายปลีก LPG ในประเทศที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ล่าสุดกระทรวงพลังงานกำหนดให้ตรึงราคาระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. 2564 นี้ โดยที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ระบุว่ามีกรอบวงเงินชดเชยราคาไม่เกิน 18,000 ล้านบาท แต่ใช้ไปแล้วรวมประมาณ 15,000 ล้านบาท ดังนั้นวงเงินที่เหลืออีก 3,000 ล้านบาทดังกล่าว จะสามารถชดเชยราคา LPG ได้อีกแค่ 3 เดือน หรือสิ้นสุดในเดือน ก.ย. 2564 เท่านั้น และอาจต้องขอขยายกรอบวงเงินเพิ่มขึ้นต่อไป โดยกองทุนน้ำมันฯยังเหลือเงินในบัญชีน้ำมันอยู่ประมาณ 17,000 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่มีรายจ่ายรวมประมาณ 1,800 ล้านบาทต่อเดือน

สำหรับการคาดการณ์ความต้องการใช้ก๊าชหุงต้มภาคครัวเรือนที่รัฐยังช่วยตรึงราคานั้น ปริมาณทั้งปี 2564 ยังอยู่ที่ 2.05 ล้านตันหรือเพิ่มขึ้น 0.9 % จากปี 2563ที่อยู่ที่ 2.03 ล้านตัน

Advertisment