ชำแหละ รัฐตรึงดีเซลสุดกำลัง ใครได้ประโยชน์? ใครรับกรรม?

740
N4431
- Advertisment-

ศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC​ )​ ชำแหละนโยบายตรึงราคาดีเซลเอาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ในสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งขึ้นสูง พบคนที่ได้ประโยชน์ไปกับนโยบาย คือ รถที่ใช้ดีเซล รวม 12 ล้านคัน (รวมบรรดารถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน7 คน จำนวน 3.2 ล้านคัน )​ ในขณะที่คนที่ต้องรับกรรมคือผู้ใช้เบนซิน 42 ล้านคัน (รวมรถมอเตอร์ไซค์​ส่วนบุคคลและสาธารณะ 21.8 ล้านคัน )​ สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมในการดำเนินนโยบายตรึงราคาแบบไม่แยกกลุ่มช่วยเฉพาะที่มีความจำเป็น

อัพเดทข้อมูลโครงสร้างราคาน้ำมัน วันที่ 10 มี.ค.65 (อ้างอิงจากเว็บไซต์ สนพ. www.eppo.go.th)​ ราคาหน้าโรงกลั่นของแก๊สโซฮอล์ 91 ที่คนขับรถมอเตอร์ไซค์​ชอบเติม อยู่ที่ลิตรละ 30.09 บาท แต่ราคาขายปลีกที่หน้าปั๊ม อยู่ที่ 39.88 บาทต่อลิตร หรือแพงขึ้น 9.79 บาทต่อลิตร

ส่วนราคาหน้าโรงกลั่นของดีเซลB7 อยู่ที่ 37.06 บาทต่อลิตร แต่ราคาหน้าปั๊มถูกตรึงเอาไว้อยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร ซึ่งทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างราคาแก๊สโซฮอล์ 91 กับ ดีเซลB7 มากถึง 9.94 บาทต่อลิตร

- Advertisment -

ทำไมแก๊สโซฮอล์91 จึงแพงกว่าดีเซล B7 ทั้งๆที่ ราคาหน้าโรงกลั่นถูกกว่า

กลไกที่ทำให้ดีเซล B7 ถูกกว่าแก๊สโซฮอล์91 มาจาก 3 ส่วนหลักคือ
1.ภาษีสรรพสามิต


ดีเซล B7 ถูกเก็บภาษีสรรพสามิต 3.20 บาทต่อลิตร (ครม.มีมติลดภาษีสรรพสามิตดีเซลชั่วคราว จาก 5.99 บาทต่อลิตร เหลือ 3.20 บาท ต่อลิตร)​

แก๊สโซฮอล์91 ถูกเก็บภาษีสรรพสามิต ที่ 5.85 บาท ต่อลิตร

2.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ดีเซล B7 ได้รับการชดเชยจากกองทุนน้ำมันมากถึง 11.29 บาทต่อลิตร (ถ้าคิดจากปริมาณการใช้เฉลี่ยเดือน ม.ค.65 ที่ 62.6 ล้านลิตรต่อวัน กองทุนน้ำมันจะมีภาระชดเชย วันละ 706 ล้านบาทหรือ เดือนละ 21,180 ล้านบาท

สถานะของกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 27 ก.พ. 2565 นั้นติดลบรวมประมาณ 21,838 ล้านบาท โดยมีการขยายกรอบวงเงินกู้เพื่อเติมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันเพิ่มเป็น 40,000 ล้านบาท โดยหากสถานการณ์​ราคาน้ำมันยังยืนระยะในระดับนี้ เงินที่มีอยู่ จะใช้ไปได้อีกประมาณ 1 เดือน หรือไม่เกินเดือน เม.ย.65 นี้

เงินที่ทางกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้จากสถาบันการเงินมีการคิดอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น หากไม่มีการปรับเปลี่ยนอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุนเสียใหม่ คนที่จะชำระหนี้กองทุนแทนคนใช้ดีเซล ก็คือ กลุ่มคนใช้เบนซิน​และแก๊ส​โซฮอล์​

3.ค่าการตลาด

ดีเซลB7 ณ วันที่ 10 มี.ค. 66 มีค่าการตลาดที่ติดลบ 1.31 บาทต่อลิตร ส่วน แก๊สโซฮอล์ 91 มีค่าการตลาดติดลบ 0.28 บาทต่อลิตร ทำให้เห็นว่าผู้ค้าน้ำมันจะต้องมีการปรับราคาขึ้นอีกเพื่อให้ค่าการตลาดกลับมาเป็นบวก

การตรึงราคาดีเซลเอาไว้นานเกินไปเป็นการบิดเบือนโครงสร้างการใช้น้ำมันและไม่ส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการขนส่งของประเทศในระยะยาว

ข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงาน ชี้ให้เห็นปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลB7เฉลี่ยอยู่ที่ 62.6 ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ อยู่ที่ 29.9 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเมื่อดูสถิติการจดทะเบียนสะสมจากกรมการขนส่งทางบกประกอบ จะยิ่งเห็นชัดว่า นโยบายรัฐที่ตรึงราคาดีเซลเอาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ทำให้มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์แบบดีเซล มากถึง 3.2 ล้านคัน ในขณะที่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เกิน 7 คน มี 3.7แสนคัน


สำหรับรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล หรือรถปิกอัพ 6.6 ล้านคัน และรถบรรทุกอีก 9.2 แสนคัน ที่รัฐอาจมองว่ามีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจเพราะการมีต้นทุนขนส่งที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันจะกระทบต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพของประชาชนจึงต้องช่วยตรึงราคาดีเซลเอาไว้ให้นั้น นักวิชาการด้านพลังงาน เสนอทางออกว่า รัฐควรแยกประเภทช่วยเฉพาะกลุ่มที่มีความจำเป็น และควรเป็นการช่วยในระยะสั้นๆ เท่านั้น

โดยระยะยาวรัฐควรมองการส่งเสริมให้มีการขนส่งระบบรางให้มากขึ้น เพราะจะเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งและลดต้นทุนได้ดีกว่าการตรึงราคาดีเซลเอาไว้แบบนี้ ที่เป็นการเอาเงินจากระเป๋าคนใช้เบนซินมาอุ้มคนใช้ดีเซลแบบไม่มีลิมิต และไม่เป็นธรรมกับกลุ่มคนใช้เบนซินซึ่งเป็นน้ำมันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าดีเซลที่เป็นระบบเครื่องยนต์เผาไหม้ไม่สมบูรณ์และก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเช่น PM2.5 มาก

นักวิชาการคนดังกล่าวบอกด้วยว่า ประชาชนผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินนั้นมีมากกว่าผู้ใช้ดีเซล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถ​มอเตอร์​ไซค์​ ซึ่งถ้าพวกเขารู้เรื่องมากขึ้นว่า รัฐบาลใช้กลไกที่ไม่เป็นธรรมกับพวกเขาในความพยายามที่จะตรึงราคาดีเซลเอาไว้ โดยให้พวกเขาใช้น้ำมันที่แพงกว่าความเป็นจริง ความนิยมในทางการเมืองที่มีต่อรัฐบาลน่าจะลดลง

Advertisment