คาดวงเงินอุดหนุนราคาLPG ทะลุหมื่นล้านเดือนธ.ค.นี้ กบน.นัดถก 27 พ.ย.หาแนวทางช่วยตรึงราคาต่อ

1017
- Advertisment-

คาดวงเงินอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ทะลุกรอบ 1 หมื่นล้านเดือนธ.ค.นี้ หลังราคาตลาดโลกพุ่งสูงช่วงหน้าหนาว คณะกรรมการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.)นัดประชุม 27 พ.ย.2563 นี้ หารือแนวทางช่วยอุดหนุนต่อ โดยมีข้อเสนอให้ ขยายกรอบวงเงินดูแลราคา LPG เพิ่มขึ้นจาก 10,000 ล้านบาท ,การปรับขึ้นราคา LPG ให้สะท้อนราคาตลาดโลก หรือการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตLPG แต่ไปปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันแทน เพื่อไม่ให้กระทบฐานะการคลัง

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงพลังงานเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ขอหารือนอกรอบกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ถึงมาตรการดูแลราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เนื่องจากจะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา LPG ภาคครัวเรือน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ในเดือนธ.ค. 2563 นี้ ขณะที่ราคา LPG ตลาดโลกปรับพุ่งขึ้นสูง จากปลายเดือนต.ค. 2563 ที่อยู่ในระดับ 390 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน มาอยู่ที่ระดับ 443 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ในเดือนพ.ย. 2563 เนื่องจากทั่วโลกมีความต้องการใช้มากขึ้นจากสภาพอากาศที่เข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคา LPG ที่ขายปลีกให้ประชาชน หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือ

ทั้งนี้กรอบวงเงินที่อนุมัติให้ใช้พยุงราคา LPG ไม่เกิน 10,000 ล้านบาทนั้น ข้อมูล ณ วันที่1 พ.ย. 2563 ได้ใช้ไปแล้ว 8,131 ล้านบาท และคาดว่าเหลือเงินใช้ได้อีกเพียงแค่ภายในเดือน ธ.ค. 2563 นี้เท่านั้น

- Advertisment -

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้ สกนช. ไปจัดทำแนวทางที่เป็นไปได้เพื่อดูแลราคาLPG ภาคประชาชน ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน และนำมาเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ในวันที่ 27 พ.ย. 2563 นี้

ทั้งนี้ สกนช. ได้จัดทำแนวทางดูแลราคา LPG ไว้ 3 ทางเลือก ได้แก่ 1.ขยายกรอบวงเงินดูแลราคา LPG เพิ่มขึ้นจาก 10,000 ล้านบาท 2.ขึ้นราคา LPG ให้สะท้อนราคาตลาดโลก และ 3.สลับอัตราภาษี โดยลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตLPG และปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

ซึ่งแนวทางที่ สกนช. เห็นว่าเป็นไปได้มากสุดคือ การปรับลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตLPG จากปัจจุบันเก็บอยู่ 2.17 บาทต่อกิโลกรัม และปรับขึ้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันแทน ซึ่งวิธีนี้จะไม่กระทบต่อรายรับของกระทรวงการคลัง และทำให้กองทุนฯใช้เงินพยุงราคา LPG ลดลง ขณะที่ราคาLPG ภาคครัวเรือนจะยังคงราคาที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมได้ต่อไป แต่แนวทางดังกล่าวทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้คำแนะนำว่า ต้องดำเนินการในช่วงจังหวะที่เหมาะสมกับสถานการณ์ราคาLPGโลกด้วย และทาง สกนช. จะต้องไปหารือกับกระทรวงการคลังให้เรียบร้อยก่อน

ส่วนแนวทางขยายกรอบวงเงินพยุงราคา LPG จะมีการทำแนวทางและเหตุผล เสนอ กบน. ด้วย แต่มาตรการปรับขึ้นราคา LPG ให้สะท้อนราคาตลาดโลก คาดว่า กบน.จะไม่เลือกแนวทางดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันประชาชนยังเดือดร้อนจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 อยู่

อย่างไรก็ตามหลังจากประชุมเพื่อสรุปแนวทางในวันที่ 27 พ.ย.2563 แล้ว จะต้องรอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) สรุปเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในเดือนธ.ค. 2563 จากนั้น กบน. จะประชุมในเดือนธ.ค. 2563 เช่นกัน เพื่อดำเนินการตามมติ กบง.ต่อไป โดยจะต้องได้ข้อสรุปมาตรการดูแลราคา LPG ภายในเดือนธ.ค. 2563 นี้ เพื่อเตรียมการดูแลราคา LPG ประชาชนตั้งแต่เดือนม.ค. 2564 เป็นต้นไป

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 1 พ.ย. 2563 มีเงินไหลออก ประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อเดือน แบ่งเป็น กลุ่มน้ำมันฯ ไหลออกประมาณ 600 ล้านบาทต่อเดือน และ LPG ไหลออกประมาณ 400 ล้านบาทต่อเดือน โดยมีเงินหลือ สุทธิ 29,917 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน อยู่ที่ 38,048 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 8,131 ล้านบาท

Advertisment