คนแห่ยื่นขอคืนเงินประกันใช้ไฟวันแรกจนเว็บล่ม “สนธิรัตน์” ชี้ไม่ต้องรีบ เปิดให้ขอได้ตลอด

- Advertisment-

คนแห่ตรวจสอบสิทธิ์คืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้า ผ่านระบบออนไลน์อย่างล้นหลามในวันแรก จนทำให้เว็บของทั้งการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคล่ม รัฐมนตรีพลังงานแนะไม่ต้องรีบ เพราะไม่ได้มีการกำหนดเวลาสิ้นสุดการขอคืนเงิน พร้อมแจงข้อสงสัย เงินประกันการใช้ไฟฟ้าไม่ใช่ค่าประกันมิเตอร์ ดังนั้นหากมิเตอร์ไฟฟ้าเสียหายภาครัฐจะต้องเข้าไปดูแลให้ประชาชน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2563 ถึงกรณีที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดให้ประชาชนตรวจสอบสิทธิ์การขอคืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้า เป็นวันแรก (ตั้งแต่ 25 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป )ผ่านทางระบบออนไลน์  ว่าได้รับรายงานว่ามีประชาชนให้ความสนใจตรวจสอบสิทธิ์การยื่นขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก จนทำให้เว็บไซต์ของการไฟฟ้าที่เปิดให้บริการล่มไปบางช่วง  ดังนั้นจึงขอแจ้งให้ประชาชนทราบว่าการขอคืนเงินดังกล่าวไม่ได้มีกำหนดเวลา ประชาชนสามารถขอคืนเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านทางระบบออนไลน์ตามช่องทางที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงแจ้งไว้  จึงไม่ต้องเร่งรีบดำเนินการเฉพาะในวันแรก

โดยนโยบายการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าของรัฐบาล ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้ากว่า 23 ล้านราย รวมเป็นวงเงินกว่า 33,000ล้านบาท

- Advertisment -

สำหรับประเด็นข้อสงสัยของประชาชน ในสังคมออนไลน์ กรณีที่มีการขอคืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้าแล้ว ในภายหลัง มิเตอร์ไฟฟ้ามีความเสียหาย ทางการไฟฟ้าจะไม่รับผิดชอบ ตามที่แอดมินเพจของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตอบชี้แจงนั้น  นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า  มิเตอร์ไฟฟ้าเป็นทรัพย์สินของหน่วยงานรัฐ เมื่อเกิดความเสียหายภาครัฐจะต้องเข้าไปซ่อมหรือเปลี่ยนให้ฟรี  ซึ่งเป็นคนละส่วนกับ เงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าที่หน่วยงานการไฟฟ้าเรียกเก็บไว้ล่วงหน้าเพื่อหักเงินเมื่อผู้ใช้ไฟฟ้าเบี้ยวการชำระค่าไฟฟ้า

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ในประเด็นเรื่องเงินประกันการใช้ไฟฟ้า และ มิเตอร์ไฟฟ้า นั้น ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้มีการชี้แจงกับประชาชน ถึงการตอบคำถามของแอดมินเพจ ที่คลาดเคลื่อน แล้ว  โดยในข้อเท็จจริง  เงินที่ประชาชนจะได้คืนจากการไฟฟ้า ตามนโยบายรัฐบาล คือเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้จ่ายไว้ล่วงหน้าให้กับทางการไฟฟ้า เนื่องจากทางการไฟฟ้า จะจ่ายไฟฟ้าให้ใช้ล่วงหน้า ก่อนที่จะมีการส่งบิลเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ เพื่อเป็นการประกันว่า ผู้ที่ขอใช้ไฟฟ้า จะไม่มีการเบี้ยวการชำระเงินค่าไฟ   ซึ่งจะเป็นคนละส่วนกับตัวมิเตอร์ไฟฟ้า ที่ถือเป็นทรัพย์สินของหน่วยงานการไฟฟ้าที่มาติดตั้งให้

ดังนั้นกรณีที่ตัวมิเตอร์มีความเสียหาย แม้จะคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าไปแล้ว หากมีสาเหตุมาจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมหรืออื่นๆที่ไม่ได้มาจากผู้ใช้ไฟ ทางการไฟฟ้าจะมาซ่อมแซมหรือเปลี่ยนให้ฟรี  ยกเว้นกรณีที่มิเตอร์เสียหายชำรุดจากการที่ผู้ใช้ ใช้ไฟฟ้าเกินขนาดหรือผิดประเภท ผู้ใช้ไฟจึงจะเป็นผู้รับผิดชอบ

สำหรับกรณีที่ ผู้ใช้ไฟได้รับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าตามสิทธิ์แล้ว ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ชำระเงินค่าไฟฟ้า ตามบิลที่เรียกเก็บ  ทางการไฟฟ้า จะออกใบแจ้งเตือนให้ชำระค่าไฟ 2 ครั้ง หากยังไม่มาชำระ ผู้ใช้ไฟฟ้ารายนั้นก็จะถูกระงับการใช้ไฟฟ้า  (ยกเว้น ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2563 นี้ ที่รัฐบาลผ่อนผันให้เป็นกรณีพิเศษ ที่สามารถชะลอการชำระได้เป็นเวลา 6เดือน  เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 )

ในกรณีของการขอใช้ไฟฟ้าสำหรับรายใหม่นั้น ทางการไฟฟ้าจะไม่มีการเรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้า   ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้สิทธิ์คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า นั้น  ทางการไฟฟ้าจะยังจัดเก็บเงินดังกล่าวเอาไว้ให้ และจะมีการคืนผลประโยชน์ในรูปของดอกเบี้ย ทุกๆ 5 ปี ผ่านบิลไฟฟ้า ไปจนกว่าจะมีการขอคืนเงินประกันดังกล่าว

Advertisment

- Advertisment -.