- Advertisment-

กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ ส.อ.ท.โต้ กรณ์ จาติกวณิช ทำคนไทยเข้าใจผิดค่าการกลั่นเพิ่ม10 เท่า ในขณะที่ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเขียนบทความเตือนรัฐไตร่ตรองให้รอบคอบหากออกมาตรการใดๆที่ส่งสัญญาณผิดขัดกลไกตลาดเสรี จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยยกตัวอย่างความล้มเหลวของเวเนซุเอลา และโบลิเวีย เป็นบทเรียน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC​ )​ รายงานว่ากลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ส่งข้อมูลถึงผู้สื่อข่าวสายพลังงานเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2565 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีที่ นายกรณ์ จาติกวณิช ได้นำเสนอประเด็น “คนไทยโดนปล้น ค่ากลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 10 เท่า” ผ่านสื่อมวลชนหลายสำนัก มาตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2565 ว่า ประเด็นที่ 1 ข้อมูลที่นายกรณ์นำเสนอเป็นการเลือกข้อมูลบางส่วนขึ้นมา เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด โดยค่าการกลั่นที่นายกรณ์ยกมานั้น ไม่ใช่ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับ (Market GRM) และยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ   

นอกจากนี้ ข้อมูลที่เลือกมาเป็นฐานในการเปรียบเทียบ เป็นข้อมูลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 (2563-2564) ซึ่งค่าการกลั่นอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากๆ  เมื่อนำมาเปรียบเทียบ จะทำให้เข้าใจผิดว่าค่าการกลั่นในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นมากผิดปกติ  

- Advertisment -

โดยหากนำข้อมูลค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับจริง ในช่วงสถานการณ์ก่อนโควิด-19 ในปี 2561-2562 มาเปรียบเทียบ จะพบว่า ค่าการกลั่นที่โรงกลั่นได้รับในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 สูงขึ้นเพียงประมาณ 0.47 บาทต่อลิตร จากช่วงสถานการณ์ปกติเท่านั้น ซึ่งไม่ได้สูงถึง 10 เท่าและสูงถึง 8 บาทต่อลิตร อย่างที่กล่าวอ้าง

ประเด็นที่ 2  ต้นทุนการกลั่นไม่ได้คงที่ แต่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าพรีเมียม ของน้ำมันดิบ (ราคาส่วนเพิ่มของน้ำมันดิบที่กลั่นเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิง) ค่าขนส่งน้ำมัน ค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่น เป็นต้น รวมถึงค่าแรงที่มีการปรับขึ้นอย่างเป็นประจำ และการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายที่มีความเข้มงวดมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงชนิดและมาตรฐานคุณภาพของน้ำมัน กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการปฏิบัติงานในโรงกลั่น ความปลอดภัย เป็นต้น

 
ประเด็นที่ 3  โรงกลั่นไม่สามารถกำหนดค่าการกลั่นได้ เนื่องจากค่าการกลั่นเป็นผลลัพธ์จากราคาเฉลี่ยของน้ำมันที่ขายจริงทุกชนิดตามสัดส่วนการผลิต หักด้วยราคาน้ำมันดิบที่ซื้อจริง ซึ่งรวมค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบ และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เช่น ค่าขนส่ง และค่าประกันภัย  รวมถึงต้องหักค่าพลังงานที่ใช้ในการกลั่น เช่น ค่าความร้อน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสูญเสีย เป็นต้น โดยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรวมถึงสต๊อกน้ำมัน และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

ด้าน นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เขียนบทความเรื่อง “ค่าการกลั่นน้ำมัน! จะให้ถูกใจ หรือถูกต้องดี? เผยแพร่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย 2565 ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญว่า โรงกลั่นน้ำมันในไทยทั้ง 6 โรงอันได้แก่ Thai Oil, GC, BCP, IRPC, Esso และ SPRC กำลังถูกกล่าวหาจากคนที่เคยเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่าเอาเปรียบผู้บริโภคจากการได้ ค่าการกลั่นที่สูงเกินปกติ จนเกิดเป็นกระแสให้รัฐเข้ามาจัดการควบคุมเพดานค่าการกลั่น GRM พร้อมทั้งมีข่าวว่ารัฐจะขอความร่วมมือให้โรงกลั่น “บริจาค” เงินก้อนมาให้รัฐเพื่อนำไปใช้พยุงราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับต่ำต่อไป

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการ​สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

โดยนายคุรุจิตแนะให้รัฐไตร่ตรองให้รอบคอบและคำนึงถึงผลกระทบทั้งในระยะยาวและระยะสั้นต่อระบบเศรษฐกิจของไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ก่อนที่จะออกมาตรการใด ๆ ออกมา รวมทั้งควรมองไปถึงตอนจบด้วยว่า มาตรการที่จะนำมาใช้จะยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมจริงหรือไม่ ไม่ใช่เป็นการแก้แบบเสี่ยงโชคยื้อเวลา หรือแก้ปัญหาหนึ่งแต่ไปก่อให้เกิดอีกปัญหาหนึ่งให้คนรุ่นหลังหรือรัฐบาลข้างหน้ารับไปแก้กันเอาเอง

โดยนายคุรุจิต เขียนยกตัวอย่างให้เห็นภาพโดยเปรียบโรงกลั่นเหมือนโรงสีข้าว ที่รับซื้อข้าวเปลือกมาสี สีแล้วได้ผลิตภัณฑ์ต่างชนิดที่ขายได้ในราคาต่างกัน เช่น แกลบ รำข้าว ปลายข้าว ข้าวหัก มิใช่มีแต่ข้าวสาร 5% หรือมีแต่ข้าวหอมมะลิอย่างเดียว ดังนั้น ค่าการกลั่น จึงเป็นเพียงหนึ่งในตัวชี้วัดว่าโรงกลั่นมีประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับโรงกลั่นอื่น ๆ ในภูมิภาคแล้วเป็นอย่างไร เพื่อพัฒนาปรับปรุงลดต้นทุน ให้สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นในประเทศอื่น ๆได้

ค่าการกลั่น หรือGRM จึงแสดงความสามารถของโรงกลั่นในการทำกำไรและแข่งขันในตลาดค้าส่งน้ำมันที่เป็นตลาดเสรี มิได้แปลว่า GRM มีค่าสูงแล้วจะมีกำไรดีเสมอไป

นายคุรุจิต ยังเขียนอธิบายด้วยว่า โรงกลั่นแต่ละโรงมีโครงสร้างการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน ซึ่งยังไม่รวมถึงต้นทุนค่าซื้อน้ำมันดิบมากลั่นที่แต่ละโรงซื้อมาในเวลาที่ต่างกันและคุณภาพของชนิดน้ำมันดิบที่ซื้อก็อาจแตกต่างกันด้วย ค่าสำรองน้ำมันตามกฎหมาย ค่าบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากราคาขึ้นหรือลงของสต๊อกน้ำมัน cost structures จึงไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การจะไปคุมราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นแต่ละโรงแบบจะใช้ระบบ cost plus จึงไม่อาจทำได้และไม่มีประเทศใดทำกัน

นอกจากนี้ รัฐยังไม่มีอำนาจตามกฎหมายในขณะนี้ที่จะไปคุมราคาขายส่งหรือขายปลีกน้ำมัน ซึ่ง หากทำไปก็จะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ทำให้ธุรกิจโรงกลั่นอาจทบทวนลดการสั่งน้ำมันดิบเข้ามาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ประเทศก็จะมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงและก็คงไม่ต่างอะไรกับที่รัฐบาลที่ประชานิยมสุดขั้วหรือต่อต้านระบบค้าเสรีอย่างเวเนซุเอลาหรือโบลิเวียหรืออิหร่าน เคยทำมาแล้วก็ล้มเหลวนำไปสู่ภาวะขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานและบริการ ประชาชนอดอยากจากภาวะเงินเฟ้อที่ไม่อาจควบคุมได้ รัฐบาลทุกยุคสมัยที่ผ่านมาตลอดสามสิบปีได้ตัดสินใจนำกลไกตลาดและการค้าเสรีมาใช้โดยลอยตัวราคาน้ำมันในประเทศ รัฐจะเข้าไปแทรกแซงก็แต่ในขอบเขตที่จำกัดในการเรียกเก็บเงินเข้าหรือจ่ายเงินชดเชยจากกองทุนตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯ เท่านั้น รัฐจึงไม่ควรย้อนกลับถอยหลังไปสู่ระบบที่จะทำให้การจัดหาและค้าน้ำมันมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

การส่งสัญญาณที่ผิดจะทำให้ภาคธุรกิจต้องทบทวนความเสี่ยง optimize products and crude runs สั่งน้ำมันดิบเข้ามากลั่นน้อยลง หรือกลั่นแต่ส่งออกมากขึ้น หรือปรับกระบวนการผลิตให้ผลิตสินค้าอื่นเช่นปิโตรเคมีมากขึ้น แทนที่จะผลิตออกมาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการจัดหาในประเทศ

นอกจากนี้ นายคุรุจิต ยังระบุด้วยว่า โรงกลั่นทั้งหกโรงในประเทศไทย เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการเปิดเผย
งบการเงิน งบกำไรขาดทุนจากผลประกอบการเป็นรายปีและรายไตรมาสตามกฎกติกาอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ เสียภาษีทุกประเภทเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษี VAT ภาษีสรรพสามิต และภาษีที่ดิน ธุรกิจของแต่ละรายมิได้จำกัดอยู่แต่การนำเข้าหรือกลั่นอย่างเดียว กำไรของโรงกลั่นจึงไม่ใช่มาจากเฉพาะการกลั่นเท่านั้น แต่ละโรงอาจมีการลงทุนขยายงานหรือปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ไม่พร้อมกัน เช่น ลงทุนติดอุปกรณ์คุมมาตรฐานคุณภาพน้ำมัน Euro 5 ตามนโยบายรัฐ เป็นต้น การจะไปขอให้แต่ละโรงจัดสรรเงินก้อนแบ่งกำไรมาให้รัฐ โดยจะใช้ตัวชี้วัด GRM เป็นตัวกำหนดแบบไม่แน่นอน (arbitrary) ผู้บริหารโรงกลั่นคงต้องคิดหนักเพราะอยู่นอกเหนือขอบเขตของกฎหมายและพันธกรณีใดๆ และจะต้องนำไปขอรับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทด้วย ซึ่งคณะกรรมการของบริษัทฯ ก็พึงมีหน้าที่ตัดสินใจโดยชอบบนหลัก Fiduciary Duty ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต หากคณะกรรมการบริษัทมหาชนใช้ดุลพินิจโดยมิได้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ยึดถือประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้งจนเกิดความเสียหายต่อธุรกิจ ก็อาจถูกผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่หรือรายย่อยฟ้องร้องเอาได้

รวมทั้งการจะดูว่าโรงกลั่นมี กำไรหรือขาดทุนก็ต้องรอให้ครบ 12 เดือนของปีปฏิทินเสียก่อน การใช้ตัวเลข GRM เพียงแค่สองสามเดือนที่ผ่านมาแล้วสรุปว่าโรงกลั่นมีกำไรมหาศาล หากในอีกหกเดือนหลังของปี 2565 นี้ราคาน้ำมันร่วงลงมา และโรงกลั่นขาดทุนเขาจะไปเรียกร้องขอเงินคืนจากรัฐได้หรือไม่

โดยเพียงแค่มีกระแสข่าวว่ารัฐจะควบคุมราคาหรือกำหนดเพดานค่าการกลั่น หรือโรงกลั่นอาจต้องให้ความร่วมมือแบ่งกำไรให้รัฐไปพยุงราคาน้ำมัน หุ้นโรงกลั่นทั้งหกโรงในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ราคาตกยกแผง market cap ลดวูบ บรรดากองทุนรวมเพื่อสำรองเลี้ยงชีพบำเหน็จบำนาญ หรือประกันสังคมทั้งหลาย หรือกองทุนการออมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น RMF, LTF หรือ SSF
ที่เคยถือหุ้นโรงกลั่นอันจัดเป็นหุ้นพื้นฐานดีบน SET100 ต่างกลายเป็นมีมูลค่าสุทธิลดลง เพราะนักลงทุนเทขาย จากความหวั่นไหวไม่เชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจเสรี อาจกระทบต่อดัชนีจัดอันดับความน่าชื่อถือ ratings
ของบริษัทฯ ได้

นอกจากนี้ในระยะยาว การที่รัฐจะไปเชิญนักลงทุนรายใหญ่จากต่างประเทศมาลงทุนในโครงการ mega projects ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ก็อาจจะยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะนักลงทุนต่างชาติก็คงถามหาสิทธิภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนที่ไทยมีกับนานาประเทศว่าเขาจะคงได้รับความคุ้มครองจากการเวนคืน และได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมอยู่หรือไม่

Advertisment