กลุ่มพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. เสนอปรับแผนAEDP เพิ่มรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเป็น 1,700 เมกะวัตต์

1029
- Advertisment-

กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เสนอกระทรวงพลังงานให้ปรับแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP)ใหม่ โดยเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเป็น 1,700 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ในแผนมีปริมาณรับซื้อ 900 เมกะวัตต์ หวังให้สามารถกำจัดขยะที่เกิดขึ้น 27 ล้านตันต่อปีได้ทั้งหมด  ในขณะที่เลขาธิการสำนักงาน กกพ.ชี้การนำขยะผลิตไฟฟ้าควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะกระทบต้นทุนค่าไฟฟ้าประชาชนโดยรวม  ควรเน้นแนวทางการ คัดแยกและกำจัดอย่างถูกวิธีเป็นอันดับแรก

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ได้จัดสัมมนาเป็นการภายใน เรื่อง“ข้อเสนอ AEDP ภาคประชาชน”เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2563 และเตรียมจัดทำสมุดปกขาวเพื่อยื่นข้อเสนอการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยหวังสะท้อนให้ภาครัฐเห็นถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาด้านพลังงานหมุนเวียนในระดับนโยบายต่อไป

ทวี จงควินิต รองประธานด้านพลังงานขยะ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท.

ทั้งนี้นายทวี จงควินิต รองประธานด้านพลังงานขยะ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนาฯว่า ส.อ.ท.ต้องการเสนอให้กระทรวงพลังงานปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP ใหม่ โดยให้เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเป็น 1,700 เมกะวัตต์ จากตามแผนเดิมที่ใช้ในปัจจุบันเปิดรับซื้อรวมประมาณ 900 เมกะวัตต์ (แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP 2015 และอีก 400 เมกะวัตต์ ตามแผน AEDP 2018 ) ทั้งนี้เพื่อช่วยกำจัดขยะที่เกิดขึ้นประมาณ 27 ล้านตันต่อปี

- Advertisment -
คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานกกพ.

ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า  การที่กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท.เสนอให้เพิ่มปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเป็น 1,700 เมกะวัตต์ เพื่อแก้ปัญหาขยะที่เกิดขึ้น 27 ล้านตันต่อปีนั้น มองว่า การนำขยะมาผลิตไฟฟ้าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและยังส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าให้แพงขึ้น เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากขยะ รัฐต้องรับซื้อไฟฟ้าในอัตราที่สูงกว่าปกติ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน  ซึ่งประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าจะเป็นผู้รับภาระดังกล่าว

  ดังนั้นจึงอยากให้ภาคอุตสาหกรรมตั้งต้นที่การกำจัดขยะก่อน ทั้งการทิ้งให้ถูกที่ แยกประเภทขยะ และ การรีไซเคิล  โดยพื้นที่ใดมีปริมาณขยะมากควรสอบถามประชาชนว่าต้องการแก้ปัญหาขยะในพื้นที่ชุมชนอย่างไร หากต้องการใช้วิธีเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าจึงค่อยมากำหนดที่ตั้งโรงไฟฟ้าและหาผู้ประกอบการดำเนินการต่อไป

Advertisment