กลุ่มปตท.ลดความเสี่ยงการซื้อน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางลง24%

1505
- Advertisment-

กลุ่มปตท.ลดความเสี่ยงการจัดซื้อน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง ลง24% จาก74% เหลือ50% หรือคิดเป็นปริมาณ 1.7แสนบาร์เรลต่อวัน โดยหันมาซื้อจากสหรัฐอเมริกา นิวเซาท์แอฟริกา และเมดิเตอร์เรเนียน ทดแทน หลังวิเคราะห์สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน จะยังคงมีความยืดเยื้อ  ขีดเส้นถ้าน้ำมันดิบราคาแตะ 80เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะเริ่มทะยอยใช้มาตรการต่างๆในการบรรเทาผลกระทบ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพลังงานเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2563 ว่า กระทรวงพลังงานร่วมกับปตท.มีการวิเคราะห์สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ว่าจะมีความ ยืดเยื้อ จึงได้มีการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมัน เป็นการล่วงหน้า ตั้งแต่ปี2562  โดยกลุ่มปตท.เริ่มลดสัดส่วนการซื้อน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางที่ต้องขนส่งน้ำมันดิบผ่านทางช่องแคบฮอร์มุซ ประเทศอิหร่าน จากที่พึ่งพาในสัดส่วนสูงถึง74% ของการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมด ลงเหลือ 50% ในปัจจุบัน หรือลดลง 24%

ทั้งนี้มีการประเมินในเบื้องต้นว่า สถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 69เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลหรือเพิ่มขึ้นประมาณ4%ก่อนเกิดเหตุการณ์ความตึงเครียดแต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ  ซึ่งในวันที่ 10 ม.ค.2563 นี้ ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.)จะมีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง รวมทั้งพิจารณาด้วยว่าจะยังคงลดการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ลง1บาทต่อลิตรในช่วงวันที่ 26ธ.ค.2562-10ม.ค.2563 เอาไว้ต่อไปหรือไม่

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ความตึงเครียดยังคงยื้ดเยื้อบานปลายจนกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้ปรับตัวสูงขึ้นถึงระดับราคา 80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล กระทรวงพลังงานจะเริ่มใช้มาตรการที่จะมาช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน  ซึ่งกรณีที่มีความเสี่ยงจะเกิดการขาดแคลนน้ำมัน ก็ได้เตรียมการที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ จากปัจจุบันที่ผลิตอยู่ 1.3 แสนบาร์เรลต่อวัน จะเพิ่มขึ้นได้อีก 25,000-36,000บาร์เรลต่อวัน โดยการเพิ่มปริมาณการผลิตดังกล่าวจะใช้เวลาเตรียมการอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และจะยืนระยะผลิตได้เพียง 2 สัปดาห์

ปัจจุบันสถานการณ์ปริมาณสำรองน้ำมันในประเทศ ยังอยู่ในระดับมาตรฐานที่สามารถใช้ไปได้อีก 50 วัน คิดเป็นปริมาณสำรองน้ำมันรวม 2,988 ล้านลิตร แบ่งเป็นปริมาณสำรองน้ำมันดิบ 1,144 ล้านลิตรและน้ำมันสำเร็จรูปอีก 1,468 ล้านลิตร   ส่วนปริมาณสำรองก๊าซหุงต้ม(LPG) ยังมีสำรองอยู่ 17 วันสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน หรือประมาณ 101 ล้านกิโลกรัม

ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน ยังมียอดสุทธิประมาณ 37,000 ล้านบาท

ด้านผู้แทนจากปตท.ที่เข้าร่วมประชุมด้วยในครั้งนี้ กล่าวว่า  การลดสัดส่วนนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางของกลุ่มปตท. เป็นการลดทั้งในส่วนที่เป็นสัญญาระยะ1ปี และรูปแบบspot จากทั้ง ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ และโอมาน และหันมาซื้อน้ำมันจากสหรัฐอเมริกา  นิวเซาท์แอฟริกา และเมดิเตอร์เรเนียน ทดแทน

โดยสัดส่วน 74% ในปี2562นั้น คิดเป็นปริมาณน้ำมันดิบ 4.2แสนบาร์เรล ต่อวัน  ปัจจุบันลดลงเหลือ 2.5แสนบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% หรือลดการจัดซื้อลงไป 1.7แสนบาร์เรลต่ อวัน

ซึ่งในส่วนของสหรัฐอเมริกา ถึงแม้จะต้องใช้เวลาในการขนส่ง นานขึ้น เป็น 45วัน จาก เดิมที่ขนส่งจากตะวันออกกลางผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ที่ใช้เวลาเพียง 15วัน  แต่ก็ถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยง ในการจัดหาน้ำมัน ป้องกันการขาดแคลนลงได้ ในอนาคต

สำหรับการนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ที่คิดเป็นสัดส่วน 74% นั้น คิดเป็นปริมาณ 4.2แสนบาร์เรล ต่อวัน

ด้าน แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มาตรการเบื้องต้นสำหรับดูแลราคาน้ำมันในช่วงวิกฤติคือการนำเงินกองทุนน้ำมันฯ มาดูแลราคาน้ำมันไม่ให้ผันผวนมากนัก ซึ่งปัจจุบันมีเงินกองทุนฯอยู่ 37,378 ล้านบาท โดยหากเงินใกล้หมดจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) กู้เงินจากสถาบันการเงิน แต่จะกู้ได้โดยไม่ให้วงเงินกองทุนน้ำมันฯเกิน 40,000 ล้านบาท ซึ่งหากเงินหมดอีก อาจจะต้องปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล ที่ปัจจุบันตรึงอยู่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยเป็นอัตราที่ใช้มาตั้งแต่ประมาณปี 2550

Advertisment