กระทรวงพลังงานประสานเสียงสภาอุตฯ เดินหน้าเปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ บงกช ตามแผน

123
- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงานตั้งโต๊ะแถลงข่าว เดินหน้าเปิดประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช ตามขั้นตอนที่กำหนด ชี้รัฐได้ประโยชน์ในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และ ส่วนแบ่งกำไร ประมาณ 800,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท  ในขณะที่ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุ หากการประมูลล่าช้าไปมากกว่านี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมเพราะค่าไฟจะสูงขึ้น และอุตสาหกรรมเป้าหมายในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็จะไม่เกิดขึ้น  

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงเหตุผลในการเดินหน้าเปิดการประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช

โดยนายศิริ กล่าวว่า  การประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกชในครั้งนี้  จะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และ ส่วนแบ่งกำไร ประมาณ 800,000 ล้านบาท ตลอดจนก่อให้เกิดการจ้างงานพนักงานคนไทย ในสัดส่วน 80% ในปีแรก และอย่างน้อย 90% ในปีที่ 5 ตามเงื่อนไขหลักสำคัญที่ระบุไว้ใน TOR นอกจากนั้น ยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซแอลพีจีได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ  4.6 แสนล้านบาท และยังก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท

- Advertisment -

ทั้งนี้ แหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งเป็นแหล่งพลังงานหลักที่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้มากกว่า 70% ของประเทศ และกำลังสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 ซึ่งเมื่อสิ้นอายุสัมปทานแล้วไม่สามารถต่ออายุกับผู้ดำเนินงานรายเดิมได้อีก ตามแผนงานเดิมต้องดำเนินงานให้ได้ผู้ประกอบการรายใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน 5 ปีสุดท้ายก่อนสิ้นอายุสัมปทานในปี 2565 ขณะนี้เหลือเวลาเพียงแค่ 3 ปี และในปี 2563 จะต้องเลือกแท่นที่มีศักยภาพในการดำเนินงานและทำการส่งมอบให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินการต่อ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 278 แท่น จึงถือว่าเป็นเรื่องที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นอายุสัมปทาน หากล่าช้าไปกว่านี้จะทำให้ไม่สามารถส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ประกอบการที่มาดำเนินการต่อได้ทันเวลา และวันที่ 25 กันยายน 2561 นี้เป็นเพียงวันที่รับมอบข้อเสนอเท่านั้น ส่วนระบบสัญญา PSC ที่นำมาใช้ในการประมูลครั้งนี้ได้มีการศึกษา โดยพิจารณาอย่างรอบคอบ และได้ทำการชี้แจงมาโดยตลอด ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างสูงสุด กระทรวงพลังงานจึงต้องเดินหน้ารับข้อเสนอการประมูลในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตตามกำหนดการที่ได้ประกาศไว้

ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการเปิดประมูลเป็นการทั่วไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2559 โดยให้มีการปรับแก้กฎหมายพระราชบัญญัติปิโตรเลียมโดยเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบจ้างบริการ (SC) เข้าไปด้วย นอกเหนือจากระบบสัมปทาน พร้อมทั้งการออกกฎหมายลำดับรอง ซึ่งผ่านกระบวนการต่างๆ ตามขั้นตอนมาโดยลำดับ

ซึ่ง ในส่วนของขั้นตอนการเปิดประมูล เป็นการเปิดประมูลตามมาตรฐานสากล ที่โปร่งใสโดยกระทรวงพลังงานได้เริ่มประกาศเชิญชวนเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 และมีการประกาศเงื่อนไขการประมูลผ่านทางเว็บไซต์ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยนักลงทุนที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้จากทั่วโลก

หลังจากนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เปิดห้อง Data Room ให้ผู้เข้าร่วมประมูลได้ศึกษาข้อมูลแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61(เอราวัณ) และ G2/61  (บงกช) อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อจัดทำข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ

ในวันที่ 25 กันยายน 2561 นี้ กำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลที่ผ่านหลักเกณฑ์ตามขั้นตอนต่าง ๆ เข้ายื่นแผนการดำเนินงาน งบประมาณการลงทุน ข้อเสนอทางด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ตามเงื่อนไขหลักสำคัญที่ระบุไว้ ใน TOR เพื่อการได้รับคัดเลือกเป็นผู้ดำเนินการสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติ ร่วมกับภาครัฐให้เกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องยื่นเอกสารจำนวน 4   ซองด้วยกันประกอบด้วย

ซองที่ 1 เป็นซองด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรตามกฎหมาย

ซองที่ 2 การยอมรับเงื่อนไขให้ภาครัฐเข้าร่วมในสัดส่วน 25%

ซองที่ 3 ข้อเสนอทางเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยแผนการลงทุน แผนการพัฒนาแหล่ง แผนช่วงรอยต่อ และแผนบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

ซองที่ 4 ซองด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ

ภายหลังจากยื่นซองแล้วจะใช้เวลาพิจารณา 2  เดือน และคาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะกรรมการปิโตรเลียมได้ในปลายเดือนพฤศจิกายน 2561

ในขณะที่วันเดียวกัน  นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เดินทางเข้าพบกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อ แสดงจุดยืน สนับสนุนกระทรวงพลังงานเดินหน้าเปิดประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช  พร้อมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ว่า  หากการประมูลล่าช้าไปมากกว่านี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมเพราะค่าไฟจะสูงขึ้น และอุตสาหกรรมเป้าหมายในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ก็จะไม่เกิดขึ้น   ซึ่งห่วงโซ่การใช้ประโยชน์โดยตรงที่ประเทศได้รับจากแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ไม่ใช่แค่เรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ แต่รวมถึงเป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามากถึง 60% ถ้าหากไม่สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะไม่มีก๊าซธรรมชาติเพียงพอให้ผลิตไฟฟ้าตามความต้องการของคนในประเทศได้  รวมทั้งยังมีผลกระทบต่อเนื่องถึงการขาดแคลนก๊าซ LPG และวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

Advertisment