กฟผ.- PEA -​ MEA ผนึกกำลังผลิตและขายพลังงานสะอาดพร้อมลงทุนรับมือ เทรนด์ EV ในอนาคต

1480
- Advertisment-

3 การไฟฟ้าผนึก​กำลังจำหน่าย​พลังงาน​สะอาด​ เตรียมพร้อมรับมือเทรนด์ EV ในอนาคตที่จะช่วยประหยัดเงินได้มากกว่ารถที่ใช้น้ำมันโดย กฟผ.จัดทำระบบ EV Ecosystem ที่ให้บริการครบวงจร เชื่อมโยงภาคขนส่งทั้งระบบ PEA ตั้งงบ 3 พันล้านบาทปรับปรุงระบบรองรับสถานีชาร์จ​EV ทั่วประเทศ ส่วน MEA ตั้งเป้าหมายจะต้องจัดหาระบบไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้งานของรถEV จำนวน 6.6 ล้านคัน ภายใน 10 ปีข้างหน้า

วันที่ 23 มิ.ย. 2564 สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ได้จัดสัมมนา “เทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้ากำลังมา เตรียมชาร์จรถอย่างไรให้ปลอดภัย” ผ่านระบบออนไลน์ โดย 3 หน่วยงานการไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA )ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นที่สำคัญดังนี้

นายวฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการโครงการ EGAT ProVenture การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในเร็วๆนี้ 3 การไฟฟ้า (กฟผ. , PEA, MEA ) เตรียมจับมือกันเพื่อรวบรวมไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เปิดจำหน่ายให้ผู้ที่สนใจ ทั้งนี้เชื่อว่ามีบางบริษัทยินดีที่จะใช้พลังงานสะอาดและยอมจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแนวคิดของภาครัฐที่ต้องการมุ่งสู่พลังงานสะอาด และจะจัดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบต่อไปเร็วๆนี้

- Advertisment -

ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ที่จะจัดขึ้นช่วงเดือน พ.ย.2564 นี้ที่ประเทศอังกฤษ คาดว่าประเทศไทยจะประกาศเป้าหมายการลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2603-2613 หรือในอีก 39 ปีนับจากนี้ ซึ่งช้ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ประกาศลดคาร์บอนฯ เป็นศูนย์ภายในปี 2593 หรืออีก 29 ปีข้างหน้า

โดยแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ดังกล่าวนั้น ประเทศไทยจะต้องเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น รวมถึงภาคยานยนต์จะต้องปรับเปลี่ยนไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.ได้เสนอให้กระทรวงพลังงานมองมุมกว้างขึ้นโดยคิดเชื่อมโยงภาคขนส่งทั้งหมดให้กลายเป็นสังคมพลังงานสีเขียว ซึ่งในส่วนของ กฟผ.ได้จัดทำระบบ EV Ecosystem ที่ให้บริการครบวงจร ทั้งสถานีชาร์จรถ EV ภายใต้ชื่อ Elex by EGAT, ให้บริการแอพพลิเคชั่น Elexa ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการหลังบ้านในรูปของ Platform และรับติดตั้งระบบหัวชาร์จไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ EGAT wallbox ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากสเปน มีทั้งขนาด 7-22 กิโลวัตต์ หากในอนาคตความต้องการมากขึ้น กฟผ.อาจตั้งเป็นโรงงานผลิตหัวชาร์จเองก็ได้

อย่างไรก็ตามปัจจุบันแม้รถ EV จะมีราคาแพงตั้งแต่ 8 แสนถึงกว่า 3 ล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาเทียบกับการรับประกันรถ 8 ปี โดยยึดตามอายุเฉลี่ยของแบตเตอรี่รถ EV เป็นเกณฑ์จะพบว่า การชาร์จไฟฟ้าในบ้านจะช่วยประหยัดเงินได้ถึง 140,000 บาทต่อ 8 ปี แต่หากชาร์จที่ปั๊มชาร์จจะประหยัดได้ 96,000 บาทต่อการชาร์จ 8 ปี เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากการชาร์จไฟฟ้าบ้านจะมีต้นทุนเพียง 40-50 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนการชาร์จที่สถานีชาร์จจะมีราคาแพงกว่า เพราะรัฐกำหนดเบื้องต้นให้ขายส่งไฟฟ้าที่ 2.63 บาทต่อหน่วย ซึ่งผู้ประกอบการปั๊มชาร์จจะนำมาขายให้ลูกค้าในราคาที่แตกต่างกันตามต้นทุนจริง

ทั้งนี้ในส่วนของภาครัฐ โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV)ได้กำหนดเป้าหมาย
ให้มีรถใหม่ 30% เป็นรถEV ภายในปี 2573 และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 4 คณะ เพื่อให้การปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้รถ EV ในอนาคต ไม่กระทบต่อแรงงานเกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตรถยนต์เชื้อเพลิงน้ำมันในปัจจุบันมากนัก โดยทั้ง 4 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการที่จะพิจารณาด้านการปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย 2.คณะอนุกรรมการด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน EV เช่น สถานีชาร์จ ระบบไฟฟ้า และแบตเตอรี่รถEV เป็นต้น 3. คณะอนุกรรมการด้านผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรเลียมและภาคเกษตร 4. คณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมทางการเงิน

โดยคณะอนุกรรมการด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน EV กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องการสร้างโรงงานแบตเตอรี่รถ EV ในประเทศไทย รวมถึงการนำแบตเตอรี่เก่าที่เหลือประสิทธิภาพการใช้งานเพียง 70-80% ให้นำกลับมาใช้เป็นแบตเตอรี่สำรองสำหรับระบบไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งคาดว่า กฟผ.จะเป็นผู้ใช้รายใหญ่ แต่หากใช้จนความสามารถของแบตเตอรี่เหลือ 30-40% จึงจะเข้าสู่กระบวนการทำลายต่อไป ทั้งนี้คาดว่ากลุ่มแบตเตอรี่รถ EV รุ่นแรกๆที่จะหมดอายุจะเกิดขึ้นในอีก 7-8 ปีข้างหน้า ซึ่งอนุกรรมการฯจะเร่งพิจารณาแนวทางการใช้แบตเตอรี่เก่าให้เสร็จก่อนที่แบตเตอรี่รุ่นแรกจะออกมา

นายธนาเศรษฐ์ บุญเรศธนะพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวว่า PEA ได้เตรียมจัดทำความพร้อมระบบไฟฟ้ารองรับการใช้งานรถ EV ทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 75 จังหวัด โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การสนับสนุนด้านระบบไฟฟ้าของ PEA ให้เพียงพอ รองรับการชาร์จรถEV พร้อมกันจำนวนมาก โดยตั้งงบประมาณ 3,000 ล้านบาท เพิ่มขนาดหม้อแปลง โดยติดตั้งหม้อแปลงเพิ่มเติม และปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าแรงต่ำทั่วประเทศ

2.แผนงานติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTY โดยกำหนดเป้าหมายติดตั้งสถานีชาร์จให้ได้ 263 สถานี ครบคลุม 75 จังหวัดภายในปี 2566 ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการชาร์จแล้ว 42 สถานี หรือ 197 หัวจ่าย ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนอัตราค่าชาร์จ ในช่วง Peak จะอยู่ที่ 7.5489 บาทต่อหน่วย และช่วง Off-Peak อยู่ที่ 4.1663 บาทต่อหน่วย

3.การพัฒนา PEA VOLTA Platform ได้จัดทำขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ขับขี่รถอีวีสำหรับค้นหาสถานีชาร์จของ กฟภ. และการชำระเงิน ซึ่งได้เริ่มเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ผ่าน PEA VOLTA Application ตั้งแต่ 1 ก.ย.2563 ซึ่งในอนาคตจะสามารถ Roaming กับ Platform ของผู้ประกอบการรายอื่นได้ด้วย และ4.การสนับสนุนอัตรา EV Low Priority ซึ่งปัจจุบันภาครัฐกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ตลอดวัน เท่ากับ 2.6369 บาทต่อหน่วย ให้ใช้งานเป็นเวลา 2 ปี สำหรับผู้ที่ติดตั้งสถานีชาร์จและต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต

ด้าน นายนิธิ อาจองค์ ผู้อำนวยการกองธุรกิจระบบไฟฟ้า 1 การไฟฟ้านครหลวง (MEA​) กล่าวว่า ปัจจุบัน MEA​ มีภารกิจดูแลการจัดจำหน่ายไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของ 3 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และนนทบุรี มีลูกค้ารวมอยู่ที่ 3.9 ล้านราย ซึ่งในส่วนของการสนันสนุน รถ EV นั้น ได้มีเป้าหมายจะต้องจัดหาระบบไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้งานของรถEV จำนวน 6.6 ล้านคัน ภายใน 10 ปีข้างหน้า

ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงระบบสมาร์ทกริด และระบบสายส่งไฟฟ้าต่างๆให้สามารถรองรับกำลังผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฯของภาคเอกชนที่จะเข้าสู่ระบบให้ได้ 3,000 เมกะวัตต์ในอนาคต รวมถึงจะต้องจัดทำระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) และการพัฒนาแพลตฟอร์ม (Energy Trading Platform ) เพื่อให้เกิดความเสถียรในการใช้งานของระบบไฟฟ้า อย่างไรก็ตามปัจจุบัน MEA​ ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุง หรือ อัพเกรดแอพพลิเคชั่น MEA EV Platform เพื่อรองรับการใช้งานรถEV ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นซึ่งจะพร้อมใช้งานในปี 2565 และพร้อมเปิดกว้างให้ทุกรายที่สนใจเข้ามาร่วมใช้บริการได้

Advertisment