กฟผ.แจงข้อเท็จจริง สภาพคล่องกระแสเงินสด สิ้นปี 66 ยังมี 9.1 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องรักษาไว้

652
- Advertisment-

กฟผ.ชี้แจงข้อเท็จจริงสภาพคล่องกระแสเงินสด ณ สิ้นปี 2566 มีกระแสเงินสดประมาณ 91,000 ล้านบาท โดยมีมาตรฐานการรักษาระดับเงินสดที่ต้องคงไว้ขั้นต่ำประมาณ 60,000 ล้านบาท ระบุข้อมูลอภิปรายของ สส.พรรคก้าวไกล เป็นตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ยังไม่อัพเดท

นายชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะรองโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  กล่าวถึง กรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายเกี่ยวกับฐานะการเงินของ กฟผ. ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567

โดยระบุว่าสภาพคล่องกระแสเงินสดของ กฟผ. จะลดลงเหลือ 10,000 ล้านบาท ในเดือนตุลาคม 2567 และจะติดลบในเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งอ้างอิงข้อมูลมาจาก “รายงานการประชุมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” นั้น

- Advertisment -

กฟผ. ขอเรียนชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลคาดการณ์เก่า ณ เดือนตุลาคม 2566 เป็นการคาดการณ์สถานะกระแสเงินสดของ กฟผ. ที่อาจเกิดขึ้นในปี 2567 โดยใช้สมมุติฐานรายรับจากค่าไฟฟ้าที่ใช้ตัวเลขสมมุติฐานหน่วยละ 3.99 บาท จนถึงเดือนธันวาคม 2567 เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานเท่านั้น ไม่ใช่ข้อมูล ณ ปัจจุบันของ กฟผ.

สำหรับข้อมูลล่าสุด ผลประกอบการและสถานะการเงินจริงของ กฟผ. ณ สิ้นปี 2566 มีกระแสเงินสดประมาณ 91,000 ล้านบาท มิใช่ 61,623 ล้านบาท ตามข้อมูลสมมุติฐานที่คาดการณ์ไว้ในเดือนตุลาคม 2566 โดย กฟผ. มีมาตรฐานการรักษาระดับเงินสดขั้นต่ำที่ต้องคงไว้ประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องติดตามและรายงานสภาพคล่องกระแสเงินสด พร้อมวิธีการบริหารสภาพคล่องต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน และคณะกรรมการ กฟผ. เพื่อทราบและให้ความเห็นเป็นประจำทุกเดือน 

ทั้งนี้ กฟผ. จะต้องดำเนินการบริหารทางการเงินเพื่อรักษาระดับเงินสดให้อยู่ในระดับ 60,000 ล้านบาท ซึ่งยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อใช้บริหารสภาพคล่องทางการเงินของ กฟผ.

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

โดยก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ลงบนเฟซบุ๊ก “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค “สรุปข้อเท็จจริงจากการอภิปรายของนายศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล  ช่วงหัวค่ำเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 66 พาดพิงเรื่องที่รัฐบาลลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนว่าสร้างปัญหาการเงินให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยระบุสาระสำคัญว่า นายศุภโชติ ใช้ข้อมูลที่เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าตั้งแต่ตุลาคม 2566 ก่อนมี “ข้อมูลจริง” ณ ปัจจุบัน ซึ่งตารางหรือกราฟที่นายศุภโชติ นำมาใช้อภิปราย เป็นเพียงการคาดการณ์เพื่อแสดงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น แต่มิได้แปลว่าจะเกิดขึ้นจริงตามนั้น เพราะ กฟผ. จะต้องบริหารจัดการมิให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้น

ทั้งนี้ มีปัจจัยที่เป็น “ข้อมูลจริง” อื่นๆ ที่ทำให้ กฟผ. มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ตามตารางที่นำมาแสดงอีกประมาณเกือบ 15,000 ล้านบาท เช่น กำไรจากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 ล้านบาท กำไรจากการรับงานภายนอกองค์กรประมาณ 1,000 ล้านบาท กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 2,600 ล้านบาท ต้นทุนลดลงจากการบริหารจัดการประมาณ 5,000 ล้านบาท และกำไรจากรายได้อื่นๆ ประมาณ 2,100 ล้านบาท เป็นต้น ทำให้ ณ สิ้นปี 2566 กฟผ. มีเงินสดคงเหลือจริงประมาณ 91,000 ล้านบาท ไม่ใช่ 63,623.6 ล้านบาท ตามที่ปรากฎในตารางคาดการณ์ที่นำมาแสดง

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ ยังระบุด้วยว่า อัตราค่าไฟฟ้าที่จะเรียกเก็บจากประชาชนตามการคาดการณ์ในตารางจะอยู่ที่ 3.99 บาท / หน่วย ตลอดปี 2567 และคาดการณ์ว่าเป็นภาระของ กฟผ. เองทั้งหมดแต่เพียงหน่วยงานเดียว แต่ “ข้อมูลจริง” ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น อยู่ระหว่าง 4.15 ถึง 4.20 บาท / หน่วย ตั้งแต่มกราคมถึงเมษายน 2567 ส่วนค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 300 หน่วย ที่รัฐบาลคงไว้ที่ 3.99 บาท / หน่วย นั้น รัฐบาลเป็นผู้แบกรับภาระจากเงินงบกลางเป็นเงินประมาณ 1,995 ล้านบาท จึงไม่เป็นภาระของ กฟผ. ฝ่ายเดียว ตาม “ข้อมูลคาดการณ์” ที่นำมาแสดง

การแบกรับภาระอัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลงทั้งสองครั้งนี้ ตาม ”ข้อมูลคาดการณ์” เป็นการคาดการณ์ว่า กฟผ. จะเป็นผู้แบกรับภาระเองทั้งหมดแต่เพียงหน่วยงานเดียว แต่ตาม “ข้อมูลจริง” รัฐบาลมีการบริหารจัดการและช่วยดำเนินการในหลายรูปแบบ โดยในครั้งนี้รัฐบาลมีการปรับโครงสร้าง Pool Gas และให้ กกพ. เรียกเก็บค่า Shortfall มาลดภาระ รวมทั้งใช้เงินงบกลางเข้ามาช่วยลดภาระ กฟผ. ด้วย

ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่ปรากฎในตารางที่เป็น “ข้อมูลคาดการณ์” ที่นำมาพูด เพราะในเวลาที่ทำตารางเมื่อเดือนตุลาคม 2566 นั้น “ข้อมูลจริง” นี้ ยังไม่เกิดขึ้น

รวมทั้ง ตาม “ข้อมูลจริง” นั้น กฟผ. ชำระหนี้เดิมที่มีกับ ปตท. หมดสิ้นแล้วตั้งแต่มกราคม 2566 สำหรับปี 2566 ทั้งปีนั้น กฟผ. ไม่ได้ติดหนี้อะไร ปตท. โดยมีการชำระหนี้ให้ ปตท. ตามกำหนดเวลาตลอดมา  ณ วันนี้ กฟผ. จึงไม่มีหนี้สินอะไรกับ ปตท. อีกแล้ว

นายพีระพันธุ์ ยังระบุถึง การส่งรายได้ให้รัฐของ กฟผ. ที่กำหนดมาตรฐานไว้ที่ประมาณ 50% ของกำไรในแต่ละปี สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมา ตาม “ข้อมูลคาดการณ์” ที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าในปี 2566 ว่า กฟผ. จะนำส่งรายได้ให้รัฐ 17,142 ล้านบาท แต่ตาม “ข้อมูลจริง” กฟผ. จะนำส่งรายได้ให้รัฐสำหรับปี 2566 นี้ประมาณ 24,000 ล้านบาท ไม่ใช่ 17,142 ล้านบาท ตาม “ข้อมูลคาดการณ์” ที่นำมาพูด ข้อมูลที่นำมาพูดจึงผิดไปจากความจริงที่เป็น “ข้อมูลจริง” ถึง 28.575% และนี่ยังแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของ กฟผ. ด้วยว่าขนาดอัตราค่าไฟฟ้าลดลง แต่ กฟผ. ยังสามารถนำส่งรายได้สูงกว่า “ข้อมูลคาดการณ์” ที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้

Advertisment