กฟผ.เร่งโรงไฟฟ้าสุราษฏร์ฯโรงใหม่เข้าระบบปี2568

3312
- Advertisment-

ผู้ว่าการ กฟผ. เผยโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 กำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์จะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2568 ซึ่งเร็วกว่าแผนPDP2018 ที่กำหนดไว้ในปี2570และ2572 โดยเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  พร้อมเล็งขายไฟฟ้าส่วนเกินให้กัมพูชา ผ่านสายส่งแรงสูง500 เควี ในปริมาณ1,000เมกะวัตต์

โดยนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวถึงโครงการดังกล่าวในโอกาสขึ้นเวทีรับปีใหม่ มอบทิศทางการทำงานในปี 2563 ให้กับผู้ปฏิบัติงานทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2563 ที่ผ่านมา และมีการนำมาเผยแพร่เป็นข่าวประชาสัมพันธ์ในเว็ปไซต์ขององค์กร www.egat.co.th เมื่อวันที่ 7ม.ค 2563   มีสาระสำคัญระบุถึงแผนการดำเนินงานในปี 2563  ที่กฟผ. จะเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อเสริมระบบตามแผน PDP 2018 โดยเตรียมเสนอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 8 โรง รวมกำลังผลิต 5,400 เมกะวัตต์ ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้สำเร็จภายในปี 2563 นี้ โดยหาก ครม.ให้ความเห็นชอบแล้ว จะเริ่มสร้างโรงแรกคือ โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน และโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 ซึ่งตั้งเป้าว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ราวปี 2568

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ด กฟผ. เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีโรงใหม่ จะถูกเลื่อนให้เร็วขึ้น 2 ปี โดยจะอยู่ในแผนPDP2018 ที่มีการปรับปรุงครั้งที่ 1

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC)  รายงานว่า ในแผน PDP 2018 มีการกำหนดให้โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิง จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2570 และชุดที่ 2 อีก 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2572  แต่นายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีนโยบายที่จะให้มีการปรับปรุง PDP 2018 ใหม่ โดยเร่งรัดโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี โรงใหม่ ให้เร็วขึ้นจากแผนเดิม เพื่อเสริมความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้  เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ไม่สามารถที่จะดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผน

ทั้งนี้ยังต้องรอการตัดสินใจเชิงนโยบายด้วยว่า ก๊าซธรรมชาติที่จะซัพพลายให้กับโรงไฟฟ้าดังกล่าวนั้นจะมาจากส่วนที่ปตท. หรือ กฟผ. เป็นผู้จัดหา โดยน่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

ผู้ว่ากฟผ.ยังระบุถึง แผนการเดินหน้าด้านการเป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าของอาเซียน ที่ได้มีการขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2562 โดยได้มีการลงนามต่อสัญญาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านระหว่างไทย สปป.ลาว และมาเลเซีย ตามมติของ กพช. นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือกับประเทศกัมพูชา เรื่องแผนการสร้างระบบส่งเชื่อมโยงไทย – กัมพูชา โดยวางแผนที่จะซื้อขายพลังงานไฟฟ้าราว 1,000 เมกะวัตต์ ผ่านระบบสายส่งแรงดัน 500 เควี และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อศึกษาการเตรียมพร้อมตลาดการซื้อขายไฟฟ้าในประเทศและระดับภูมิภาค ด้วย

Cr.ภาพจากเว็บไซต์ www.egat.co.th

Advertisment