กฟผ. เดินหน้าขยายสถานีชาร์จ EleX by EGAT รองรับ กลุ่มผู้ใช้ EV เดินทางไกลข้ามหลายจังหวัด

584
- Advertisment-

กฟผ. ขยายสถานีชาร์จ EleX by EGAT เพิ่มอีก 12 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ และภายในปี 65 นี้จะขยายสถานีรองรับกลุ่มเดินทางไกลข้ามหลายจังหวัด กลุ่มผู้ใช้EVในเมือง และเปิดรับพันธมิตรที่อยากลงทุนเป็นเจ้าของสถานีชาร์จ

นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ Project Management Office การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้เปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT แห่งใหม่ล่าสุดเพิ่มขึ้นอีก 12 สถานีกระจายทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย โดยเป็นสถานีชาร์จในสถานีบริการน้ำมัน PT และติดตั้งเครื่องชาร์จแบบ Dynamic Load ที่มีกำลังไฟสูงสุดถึง 125 kW สามารถชาร์จไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลาในการเดินทาง

สถานีชาร์จรถ EV ที่เพิ่มขึ้น12 แห่ง อยู่ที่ ลำปาง 2 แห่ง เชียงใหม่ 1 แห่ง เชียงราย 1 แห่ง อุดรธานี 1 แห่ง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น 1 แห่ง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ 1 แห่ง
อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา 1 แห่ง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี 1 แห่ง จ.ตาก 1 แห่ง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ 1 แห่ง และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 1 แห่ง

- Advertisment -

ปัจจุบัน สถานีชาร์จ EleX by EGAT เปิดให้บริการแล้วทั้งสิ้น 40 สถานี ซึ่งเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ใช้ EV สามารถเดินทางไกลได้ถึง จ.เชียงราย ที่มีสถานีชาร์จของ กฟผ. เปิดให้บริการแล้ว

นายวฤต กล่าวว่า ภายในครึ่งปี 2565 นี้ กฟผ. จะเปิดให้บริการสถานีชาร์จเพิ่มขึ้นอีก 17 สถานี ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่บริเวณทางหลวง (Highway) กับสถานีบริการน้ำมัน PT ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ EV สามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ ออกไปได้ 700 กิโลเมตรในทุกทิศทาง

และ กฟผ. ยังตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปี 2565 จะติดตั้ง Super Fast Charger ให้ผู้ใช้ EV เดินทางไปได้ทุกจังหวัดในประเทศไทย รวมถึงจะพัฒนา Green Charging Station ต้นแบบอีกด้วย

ส่วนกลุ่มลูกค้าในเมือง จะขยายสถานีไปยังห้างสรรพสินค้า Community Mall สนามกอล์ฟ และ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่สนใจทำธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ กฟผ.ตั้งเป้าขยายเครือข่ายพันธมิตรที่หลากหลายมากขึ้น โดยเปิดรับผู้ประกอบการทั้งธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร สนามกอล์ฟ หรือ ธุรกิจอื่น ๆ ที่ต้องการเพิ่มจุดชาร์จ EV ให้กับลูกค้า โดยเจ้าของสถานีสามารถใช้บริการระบบ “BackEN” หรือระบบบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Network Operator Platform) ที่ กฟผ. พัฒนาขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของสถานีชาร์จ อีกทั้งยังเชื่อมโยงการใช้งานไปที่แอปพลิเคชัน EleXA ของ กฟผ. ทำให้ลูกค้าผู้ใช้ EV สามารถมองเห็นสถานีชาร์จได้มากขึ้นและช่วยเพิ่มยอดผู้เข้าใช้บริการที่สถานีมากขึ้นด้วย ซึ่งระบบดังกล่าวมีอัตราค่าบริการแพลตฟอร์มเริ่มต้นเพียง 699 บาทต่อเดือนต่อเครื่อง

นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีบริการติดตั้ง Wallbox Charger สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่มีหัวชาร์จติดตั้ง เป็นทางเลือกเพิ่มเติมอีกด้วย

ผู้สนใจลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จ EV สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line Official Account : @backenev

Advertisment