กฟผ. หนุน Young Gen ปั้นธุรกิจใหม่ EGAT+Wallbox ลุยตลาด EV Charger

1277
- Advertisment-

ไม่น่าเชื่อว่าหลังจากเปิดตัวธุรกิจ EGAT+ WallBox ซึ่งเป็นอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ภายในปีเดียว ธุรกิจใหม่นี้ก็กลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่จะสร้างรายได้กว่า 10 ล้านบาทในปีนี้ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วจากกระแสโลกที่ให้ความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม จนถึงขั้นมีการเตรียมแผนสร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์ชาร์จยี่ห้อ Wallbox อีก 3 ปีข้างหน้าในไทยกันเลยทีเดียว

ธุรกิจเครื่องชาร์จไฟฟ้า EGAT+WallBox เกิดขึ้นจากทีมนักบริหารสายเลือดใหม่ของ กฟผ. ที่ได้รับการปลุกปั้นขึ้นมารับมือกับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีด้านไฟฟ้า ให้ก้าวสู่ตลาดยุคใหม่ที่แข่งขันกันด้านเทคโนโลยีอย่างเข้มข้น โดย EGAT+Wallbox นับเป็นผลิตภัณฑ์ด้านไฟฟ้าของ กฟผ. ที่จับต้องได้และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ กฟผ. อย่างชัดเจน ภายใต้การนำของ “เศรษฐศิษฏ์ ชาติการุณ” หัวหน้าแผนกธุรกิจระบบโครงข่ายไฟฟ้าดิจิทัลและพลังงานใหม่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. 

เศรษฐศิษฎ์ เล่าถึงความคืบหน้าว่า  Wallbox เป็นอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้า หรือ EV Charger ขนาดเล็ก ซึ่งสามารถติดตั้งการใช้งานได้ทั้งที่บ้าน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า หรือพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งาน ปัจจุบันมีการติดตั้งให้ลูกค้าแล้วกว่า 200 ราย รวมรายได้ประมาณ 9 ล้านบาท นับจากเปิดให้บริการเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าสิ้นปี 2564 นี้ จะสร้างรายได้ให้ กฟผ. รวมกว่า 10 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายธุรกิจในอนาคตว่า ต่อไปจะเติบโตถึง 3-4 เท่าจากปี 2564 หรือมีรายได้ประมาณ 30-40 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการ EV Charger โดยเฉพาะในกลุ่มโรงแรม สถานประกอบที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่เริ่มจะกลับมาคึกคักจากการเตรียมเปิดประเทศอีกครั้งหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มลดลง ประกอบกับค่ายรถยนต์ต่างๆ กำลังเริ่มหันมาผลิตรถ EV มากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางโลกที่ต้องการลดภาวะโลกร้อน ดังนั้น คาดว่าปี 2565 เป็นต้นไป ธุรกิจ EV จะแข่งขันกันสูงขึ้นและการใช้รถ EV  จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว 

- Advertisment -

นอกจากนี้ ทาง กฟผ.ยังมีแผนจะร่วมมือกับพันธมิตรคือ บริษัท Wallbox Chargers SL. จัดตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์ Wallbox Charger ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจัดตั้งโรงงานได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า ทำให้ไทยไม่ต้องนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ และเพื่อให้คนไทยได้ใช้อุปกรณ์ EV Charger ที่ได้มาตรฐานคุณภาพสูงและติดตั้งอย่างมืออาชีพจาก กฟผ. อีกด้วย

กฟผ. มีเป้าหมายสูงสุดกับธุรกิจนี้ คือ การเป็น Charger เบอร์ 1 ในหัวใจคนไทย โดยมีส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่งของธุรกิจ EV Charger ในประเทศ พร้อมกับการเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกอุปกรณ์ Wallbox ในภูมิภาคเอเชีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า”

เศรษฐศิษฏ์ ชาติการุณ หัวหน้าแผนกธุรกิจระบบโครงข่ายไฟฟ้าดิจิทัลและพลังงานใหม่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. 

เศรษฐศิษฎ์เผยว่า ปัจจุบัน กฟผ.มีการจำหน่ายและติดตั้ง EV Charger ภายใต้ EGAT+Wallbox  แบบ AC Normal Charge ขนาดตั้งแต่ 7.4-22 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และอุปกรณ์ชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะแบบสองทิศทาง (Smart Bi-Directional Charger)  แบบ Normal Charge 2 ทิศทาง ซึ่งเครื่องนี้สามารถดึงไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ของรถ EV (เฉพาะรถ นิสสัน ลีฟ และมิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์) กลับเข้าบ้านหรือระบบไฟฟ้าได้ เท่ากับต่อไปรถจะเป็นแบตเตอรี่สำรองให้ระบบไฟฟ้าได้  ถือเป็นโรงไฟฟ้าเสมือนแห่งอนาคตของรถไฟฟ้า  

ล่าสุด ในเดือน พ.ย. 2564 นี้ กฟผ. จะเปิดตัว  DC fast charger ในงาน MOTOR EXPO 2021 ซึ่งเป็นเครื่องชาร์จไฟฟ้า Wallbox รุ่นใหม่ ชื่อรุ่น Supernova ขนาดกำลังไฟรวม 60 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์จได้เร็วขึ้น ใช้เวลาเพียง 15 นาที สามารถวิ่งได้ถึง 100 กิโลเมตร  และในปี 2565 รุ่นนี้ยังสามารถอัพเกรดเป็น 100 กิโลวัตต์ชั่วโมงได้ภายหลังโดยไม่ต้องซื้อตู้ใหม่

นอกจากนี้ ปลายปี 2565 กฟผ. ยังมีแผน จะเปิดตัว Wallbox อีกหนึ่งรุ่น ที่ขนาดไฟฟ้าแรงที่สุด คือ Hypernova  ขนาดไฟฟ้า 350 กิโลวัตต์ และเป็นเครื่องชาร์จแบบ Ultra fast charger ซึ่งใช้เวลาชาร์จไฟฟ้าเพียง 3 นาที จะวิ่งได้ 100 กิโลเมตร และหากชาร์จ 15 นาที จะวิ่งได้ถึง 500 กิโลเมตร โดยคาดว่าในช่วงแรก กฟผ. จะลงทุนเองสำหรับWallbox รุ่นนี้ โดยติดตั้งตามถนนหลวง (High Way) หรือเอาท์เล็ท (Outlet) สินค้าตามถนนใหญ่ 

เศรษฐศิษฎ์กล่าวว่า การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ของ กฟผ. ให้เข้ามามีส่วนขับเคลื่อนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึง EV Charger นี้ เป็นนโยบายของผู้บริหาร กฟผ.  ที่ต้องการพัฒนาบุคลากรให้มีแนวคิดแบบผู้ประกอบการรุ่นใหม่มากขึ้น ทั้งการฝึกคิดเชิงเหตุผล การทำธุรกิจในเชิงพาณิชย์นอกกรอบจากธุรกิจเดิม นอกจากนี้ ยังเป็นการตอบรับนโยบายภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้เกิดการใช้ EV 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 โดยคาดว่าในปี 2565 ธุรกิจรถ EV จะมาแรง เพราะจะมีรถ EV จากค่ายรถของจีนเข้ามาไทยมากขึ้น และราคาจับต้องได้ ซึ่งจะส่งผลให้ตลาด EV เติบโต 2 เท่า จากปี 2563 ที่ผ่านมา

สำหรับธุรกิจ EV Charger มีความสอดรับกับธุรกิจหลักของ กฟผ. ในฐานะผู้ให้บริการไฟฟ้า โดยปัจจุบัน กฟผ. มีคู่แข่งในธุรกิจนี้ประมาณ 5-6 ราย อย่างไรก็ตาม กฟผ. มีความได้เปรียบในหลายด้าน อาทิ รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม จูงใจลูกค้า และเป็นตัวเลือกอันดับแรก อีกทั้งมีคุณภาพสูง แบรนด์เป็นที่ยอมรับ โดยบริษัท Wallbox รุ่น Pulsaplus อยู่ใน Best seller จาก Amazon ในสหรัฐฯ ที่สำคัญ Wallbox เป็นเครื่องชาร์จที่ชาญฉลาด เป็น Smart Charger ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะชาร์จจากระบบการไฟฟ้าหรือจะชาร์จจากพลังงานสีเขียว เช่น โซลาร์รูฟท็อป ซึ่งปัจจุบัน เป็นเพียงแบรนด์เดียวที่สามารถทำได้ นอกจากนั้น Wallbox ยังมีแอพพลิเคชั่นไว้ให้บริการลูกค้า สามารถดูได้แบบเรียลไทม์ว่าชาร์จไฟฟ้าไปเท่าไหร่ เป็นราคาเท่าไหร่ และสามารถชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบาย

นอกจากนี้ยังมีบริการหลังการขาย รับประกันติดตั้ง 2 ปี รับประกันเครื่องชาร์จ 2 ปี ถ้าเสียสามารถเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้เลย ลูกค้าก็สบายใจ หรือถ้าหมดประกันก็สามารถซ่อมได้เพราะมีอะไหล่เปลี่ยน เป็นต้น  

“ในปี 2565 ทิศทางการใช้รถ EV จะเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ธุรกิจ EV Charger จะมีการแข่งขันสูงขึ้น ดังนั้นต้องการให้ภาครัฐกำหนดทิศทางให้ชัดเจนและจริงจัง พร้อมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนำเข้าเพื่อให้เกิดการลงทุนได้มากขึ้น ซึ่ง กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่พร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล เพื่อให้ประเทศเติบโตในยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน” เศรษฐศิษฎ์ กล่าวทิ้งท้าย

จะเห็นได้ชัดว่า ธุรกิจอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้า EGAT+Wallbox  ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์และบริการภายใต้ธุรกิจ “EGAT EV Business Solutions” ของ กฟผ. นี้ จะเป็นอีกกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ ที่จะทำให้เกิดระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Ecosystem ขึ้นในประเทศไทยได้ เพราะจะเป็นปัจจัยที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้ใช้รถ EV ทำให้เกิดแรงจูงใจในการใช้รถ EV มากขึ้น ตลอดจนสามารถรองรับการใช้งานรถ EV ที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างมากในอนาคต   


Advertisment