กฟผ.แจงโรงไฟฟ้าถ่านหิน​ 4​ โรงหยุดผลิตพร้อมกันเป็นเหตุบังเอิญ​ ยันไม่กระทบความมั่นคงไฟฟ้า

2867
- Advertisment-

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย​ (กฟผ.) เผยเหตุ โรงไฟฟ้าถ่านหิน​ 4​โรง​ (โรงไฟฟ้าหงสา, แม่เมาะ,บีแอลซีพี และเก็คโค่-วัน​)​ กำลังผลิตรวม​ 2,750 เมกะวัตต์ เกิดขัดข้องพร้อมกัน ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเหตุบังเอิญ ยืนยันไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้า พร้อมระบุช่วงหน้าร้อนปีนี้ประชาชนใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น​ 8​% จากปี 2563

นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย​(กฟผ.) กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 แห่ง (โรงไฟฟ้าหงสา, โรงไฟฟ้าแม่เมาะ,โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี และโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน​ กำลังการผลิตรวม​2,750​ เมกะวัตต์​)​ ได้หยุดเดินเครื่องผลิตในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเป็นเหตุบังเอิญ เนื่องจากเหตุขัดข้องของเครื่องผลิตไฟฟ้า ซึ่งเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2564 โรงไฟฟ้าหงสา ได้กลับมาผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตามปกติแล้ว ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เหลือยังอยู่ระหว่างปิดซ่อมบำรุงประจำปีและจะเข้าระบบเร็วๆนี้

โดยโรงไฟฟ้าหงสา เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,878 เมกะวัตต์ โดยมีเครื่องผลิตไฟฟ้า 3 หน่วย กำลังการผลิตประมาณหน่วยละ 500 เมกะวัตต์ แต่ที่ขัดข้องในช่วงที่ผ่านมามีเพียง 1 หน่วย กำลังผลิต 500 เมกะวัตต์เท่านั้น

- Advertisment -

ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ของ กฟผ. สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุขัดข้องไป 1 เครื่อง กำลังผลิตหายไป 150 เมกะวัตต์

สำหรับโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี เป็นบริษัทร่วมทุน ระหว่างบริษัทในเครือของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ๊กโก กรุ๊ป​ (สัดส่วน​ถือหุ้น​50​ต่อ50)​ กำลังผลิตรวม 1,434 เมกะวัตต์ นั้น ขัดข้องไป 1 หน่วยผลิต ไฟฟ้าหายไป 700 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน ของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC มีเหตุขัดข้อง 1 หน่วยผลิตไฟฟ้า ทำให้กำลังผลิต 660 เมกะวัตต์ หายไปจากระบบทั้งหมด

อย่างไรก็ตามทั้ง 4 โรงมีแผนจะปิดซ่อมบำรุงเร็วๆนี้อยู่แล้ว เนื่องจากปี 2563 ที่ผ่านมาประสบปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงไม่ได้ดำเนินการปิดซ่อมบำรุงตามแผน และจะมาซ่อมในปี 2564 นี้แทน แต่เกิดเหตุขัดข้องเสียก่อน ดังนั้นบางโรงไฟฟ้าจึงใช้โอกาสนี้ปิดซ่อมบำรุงตามแผนด้วยเลย

ทั้งนี้การที่บริษัท ปตท.จำกัด​(มหาชน) ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เพื่อมาผลิตไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น สาเหตุหลักส่วนหนึ่งยังมาจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่สภาพอากาศร้อน และทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าปี 2563 ไปถึง 8% ทะลุไปกว่า 3 หมื่นเมกะวัตต์ ดังนั้น ปตท.จึงต้องนำเข้า LNG มาเสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงฤดูร้อนนี้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการรองรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 โรงที่หยุดเดินเครื่องชั่วคราวด้วย

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน​(สนพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้สอบถามไปยัง กฟผ. ถึงเหตุการณ์การหยุดเดินเครื่องผลิตของโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวแล้วพบว่า ไม่ใช่สถานการณ์ที่วิกฤตอะไร​ โดยเป็นเพียงเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในการทำงานปกติทุกวัน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาการจ่ายเชื้อเพลิงไม่ได้กระทันหัน​ (unplaned) ก็ต้องมีการสลับเชื้อเพลิง หรือปัญหาไฟฟ้าหลุดจากระบบก็ต้องเปลี่ยนจุดส่งไฟฟ้าเข้าในระบบเพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ต่อเนื่อง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานยังเฝ้าติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศต่อไป

สำหรับตัวเลขการใช้ไฟฟ้าในระบบของ 3 การไฟฟ้า พบว่า การใช้ไฟฟ้าในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 44,759 GWh ลดลง 5.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การใช้ไฟฟ้าลดลงทุกกลุ่มสาขา ยกเว้นเดือนมีนาคม 2564 ที่เพิ่มขึ้น 21.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ซึ่งการใช้ไฟฟ้า ในภาคอุตสาหกรรม ที่มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 47% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เฉพาะเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นถึง 17.6% จากเดือนก่อนหน้า

ในภาคธุรกิจ ที่มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 22% ตัวเลขการใช้ 3 เดือน​แรกลดลง 15.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ภาคครัวเรือน ที่มีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า 26% การใช้ลดลง 3.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การใช้เฉพาะของเดือนมีนาคม 2564 เพิ่มขึ้น 26.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าและสภาพอากาศที่ร้อน

Advertisment