กฟผ. ตอบโจทย์รัฐบาล หนุนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวหลังโควิด-19

683
- Advertisment-

ถึงแม้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ แต่ก็ไม่ได้ทิ้งบทบาทในการเป็นกลไกของรัฐเพื่อตอบสนองนโยบายที่จะใช้เรื่องของพลังงานมาเป็นหัวจักรในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและภาคการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 มาตั้งแต่ต้นปี2563

*แม่เมาะเฟสติวัล ครั้งที่ 16 ช่วยกระตุ้นท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง

- Advertisment -

โดยมาตรการระยะสั้นที่ได้เริ่มเห็นกันในช่วงปลายปี  ระหว่างวันที่ 7 – 29 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งมีการจัดขึ้นเป็นประจำ ปีนี้เป็นปีที่ 16 คือ งานเทศกาลแม่เมาะเฟสติวัล  จัดขึ้น ณ สวนเฉลิมพระเกียรติฯ (ทุ่งบัวตอง) และ สวนพฤกษชาติ กฟผ. แม่เมาะ  จ.ลำปาง ภายใต้แนวคิด แสงแห่งความสุข : Mae Moh Light of Happiness ที่ประเมินว่าจะช่วยให้เกิดการจับจ่ายซื้อสินค้า การเดินทางท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนในจังหวัดลำปางได้อย่างมาก

**จ้างงานเด็กจบใหม่ 2,500 อัตราช่วยงานซีเอสอาร์เขื่อนและโรงไฟฟ้า

ต่อเนื่องไปสู่ปี 2564 กฟผ. ก็จัดแคมเปญช่วยเหลือนักศึกษาจบใหม่ จ้างงาน 2,500 อัตรา  ภายใต้โครงการ  “พลังงานร่วมใจ สร้างงานพัฒนาชุมชน”  เป็นระยะเวลา 12 เดือน เริ่มงานเดือนมกราคม – ธันวาคม 2564 โดยตั้งเป้าจ้างงานนักศึกษาที่จบใหม่ ระหว่างปี 2562 – 2563 วุฒิการศึกษาระดับ ปวส. – ปริญญาตรี ไม่จำกัดสาขา ที่มีภูมิลำเนารอบเขต/เขื่อน โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั่วประเทศ ร่วมทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ในพื้นที่นั้นๆ กับ กฟผ. โดย กฟผ. แม่เมาะ จ.ลำปาง เปิดรับสมัครเป็นที่แรก เมื่อวันที่ 5 – 13 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา

**จัดแคมเปญ “Workation Thailand ทำงานเที่ยวได้ รวมใจช่วยชาติ” ชวนเช็คอิน 8 เขื่อนสุดชิล

กฟผ. ได้เข้าร่วมโครงการ Workation Thailand ทำงานเที่ยวได้ รวมใจช่วยชาติ” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภายใต้แนวคิด Working Outing & Meeting from Somewhere” โดยนำ 8 เขื่อนที่มีความสวยงามท่ามกลางธรรมชาติของ กฟผ. เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ทุกองค์กรและประชาชนได้เปลี่ยนสถานที่ทำงาน สัมมนาและจัดกิจกรรมต่างๆ หรือพักผ่อนในบรรยากาศที่แตกต่างไปจากเดิม สอดรับนโยบายรัฐบาลในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19

สำหรับ 8 เขื่อนของ กฟผ. ที่เข้าร่วมโครงการ  ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี  เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี  เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ  เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น  และเขื่อนรัชชประภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะมีส่วนลด 50% ให้กับผู้ใช้บริการบ้านพักโดยองค์กรหรือประชาชนที่สนใจสามารถลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์  www.workationthailand.com หรือ ติดต่อโดยตรงที่บ้านพักรับรองเขื่อนที่ร่วมโครงการ ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ กฟผ. ขอความร่วมมือผู้ที่สนใจกรุณาแจ้งการใช้สิทธิ์ก่อนการใช้บริการ และสำรองห้องพักล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

**จัดตลาดนัด “เอนจี้” ของดีทั่วไทย

กฟผ.ใช้ชื่อตัวแมสคอท  “เอนจี้” ซึ่งสร้างการจดจำได้ดีและเป็นที่รู้จักกันในแวดวงพลังงาน สังคมและชุมชนที่เกี่ยวข้อง มาจัดทำเป็นแพลตฟอร์มตลาดนัดออนไลน์ ผ่านช่องทาง Facebook แฟนเพจ ตลาดนัดเอนจี้ของดีทั่วไทย เพื่อรวบรวมสินค้าคัดสรรคุณภาพจากพี่น้องชุมชนรอบเขตเขื่อนและโรงไฟฟ้าของ กฟผ. มาไว้บนโลกออนไลน์ ให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่สนใจสามารถเลือกช้อป อุดหนุนสินค้าจากชุมชน และร่วมขายสินค้าในตลาดออนไลน์ โดยมีสมาชิกเข้าร่วมอยู่ในตลาดแห่งนี้มากกว่า 1หมื่นรายแล้ว

นอกจากนี้ ยังเปิดให้ชุมชนนำสินค้ามาขายที่ตลาดนัด “เอนจี้” ของดีทั่วไทย แบบออฟไลน์ ที่ซื้อขายจับจ่ายกันได้ทันที ที่ห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า 24-30 พ.ย. 2563 และ ที่ห้างเดอะมอลล์ บางกะปิ  28-30 พ.ย.  2563  อีกด้วย

**นำร่องโรงไฟฟ้าชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

ในส่วนการขับเคลื่อนช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากที่ต่อเนื่องไปในระยะยาว กฟผ. ยังเดินหน้าโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 2 แห่ง คือที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ใช้ซังข้าวโพดและเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆ เป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิต 2-3 เมกะวัตต์ และ ที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขนาด 1 เมกะวัตต์ ใช้ พืชพลังงานจากหญ้าเนเปียร์ เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแล้ว โดยจะดำเนินการให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 1 ปี หลังจากที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

สำหรับโครงการนำร่องที่แม่แจ่ม และทับสะแก นี้ จะเปิดโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนเข้ามาร่วมถือหุ้นในสัดส่วน 10% เมื่อเริ่มต้นโครงการ และจะเปิดให้ถือหุ้นเพิ่มได้ถึง 40% ในอนาคต โดยใช้ผลกำไรที่วิสาหกิจชุมชนได้รับ มาซื้อหุ้น เพื่อให้ชุมชนได้ร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า และชุมชนก็จะมีรายได้ทันทีเมื่อเริ่มโครงการ ทั้งจากการจ้างงานในโรงไฟฟ้า การเป็นคู่สัญญาในการส่งป้อนเชื้อเพลิงเข้าโรงไฟฟ้า และการแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับกองทุนหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้น เพื่อนำเงินดังกล่าวไปพัฒนาฟื้นฟูท้องถิ่นในรัศมี 1 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานคาดหวังให้ทั้ง 2 โครงการเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ที่จะขยายเพิ่มขึ้นในอนาคต ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าชุมชนรวม 1,933 เมกะวัตต์ ในปี 2580  ที่สำคัญจะเป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นการจ้างงาน สร้างรายได้ ก่อให้เกิดชุมชนที่เข้มแข็งในระดับเศรษฐกิจฐานราก ต่อไป

**พัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้า สร้างความมั่นคงเขตเศรษฐกิจชายแดน

ส่วนมาตรการที่จะมีผลต่อเนื่องไปในระยะยาวอีกทาง เป็นการลงทุนด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้าและก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศจำนวนมาก ได้แก่ “โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1” หรือ SEZ1 ซึ่งเป็นโครงการด้านการปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าแรงสูง 230 kVและ 115 kV ที่ อ.แม่สอด จ.ตากและอ.เมือง จ.มุกดาหาร ระหว่างปี 2563-2568 มูลค่าลงทุน 2,150 ล้านบาท  แบ่งเป็นการลงทุนที่ อ.แม่สอด จ.ตาก 2,100 ล้านบาท และ อ.เมือง จ.มุกดาหาร 50 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงในระบบไฟฟ้าระยะยาวและเพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

โดยโครงการดังกล่าว เกิดจากรัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ประกอบด้วยจังหวัดตาก สระแก้ว สงขลา ตราด มุกดาหารและหนองคาย และระยะที่ 2 ประกอบด้วยจังหวัดนราธิวาส เชียงราย นครพนม และกาญจนบุรี ต่อมากระทรวงพลังงานได้จัดตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC ดังนั้น กฟผ. จึงได้จัดทำโครงการ SEZ1 ขึ้น โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018)

ทั้งหมดนี้เป็นโครงการที่ กฟผ. เข้ามาช่วยตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและการท่องเที่ยวที่ซบเซา ควบคู่ไปกับภารกิจหลักในการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้กับประเทศ  ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่าบทบาทของภาคพลังงาน จะช่วยประคองให้ไทยฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจไปได้จนกว่าจะมีวัคซีนออกมาป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้อย่างจริงจัง

 

 

Advertisment