โชว์เทคโนโลยีรีไซเคิล รับมือแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุ

4800
- Advertisment-

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โชว์ผลงานเทคโนโลยีรีไซเคิลเงินบริสุทธิ์จากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เป็นแห่งแรกของไทย สร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งยานยนต์ และเครื่องประดับ เดินหน้ารุกรีไซเคิลส่วนประกอบอื่น อาทิ ซิลิกอน กระจก และอลูมิเนียม หวังกำจัดของเสียได้ทั้งระบบ แย้มโรงงานรีไซเคิล 2-3 รายสนใจลงทุนเทคโนโลยีดังกล่าว หลังประเมินเบื้องต้นภายในปี 2575 จะมีแผงโซลาร์เซลล์ทยอยหมดอายุประมาณ 7.5 แสนตัน    

นายสุระ เพชรพิรุณ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้เปิดตัวเทคโนโลยีรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Panel) ซึ่งสกัดได้แร่เงินบริสุทธิ 99.98% ออกมาใช้ใหม่เป็นแห่งแรกในประเทศไทย และเตรียมที่จะต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลส่วนประกอบอื่น ๆ เพิ่มเติมในปี 2563 เช่น ซิลิกอน (Silicon) เนื่องจาก 5 ปีจากนี้ จะมีแผงโซลาร์เซลล์เริ่มหมดอายุการใช้งานและกลายเป็นของเสียระลอกแรก รวมทั้งยังได้พัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลถุงบรรจุภัณฑ์ที่มีอะลูมิเนียมฟอยล์เป็นองค์ประกอบ โดยได้ทำการแยกสกัดโลหะอลูมิเนียมและแวกซ์ ออกมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรม และจะขยายผลแยกส่วนที่เป็นน้ำมันสำหรับผลิตเป็นเชื้อเพลิงระยะต่อไปด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีขยะประเภทอะลูมิเนียมฟอยล์จำนวนมาก ซึ่งรีไซเคิลได้ยากจึงนิยมกำจัดด้วยการฝังกลบ

นายสุระ เพชรพิรุณ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลของเสีย เพื่อนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ได้แก่ เทคโนโลยีรีไซเคิลแม่เหล็กกำลังสูงในฮาร์ดไดรฟ์และมอเตอร์ไฟฟ้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีโลหะหายากนีโอดีเมียม (Neodymium Magnet) เป็นองค์ประกอบ โดยโลหะนีโอดีเมียมนี้จะเป็นวัตถุดิบตั้งต้นให้กับอุตสาหกรรม S-Curve ได้หลากหลาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็นต้น

- Advertisment -

“ผลสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลดังกล่าว เป็นความสำเร็จตามเป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วยนวัตกรรม (Innovation) และรูปแบบธุรกิจใหม่ (New Business Model) โดยการเปลี่ยนขยะหรือของเสียที่ถูกมองว่าเป็นปัญหากลับมาใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบทดแทน หรือที่เรียกว่า Waste to Resource ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน” นายสุระ กล่าว

ด้าน นายธีรวุธ ตันนุกิจ วิศวกรโลหการชำนาญการพิเศษ สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐาน กพร. กล่าวว่า ในระยะแรก กพร. สามารถสกัดโลหะมีค่า คือ เงินบริสุทธิ์ 99.98% ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนในระยะต่อไปหรือในปีงบประมาณ 2563 จะต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลส่วนประกอบอื่นที่สำคัญจากแผงโซลาร์เซลล์อย่างครบวงจร เช่น ซิลิกอน กระจก และอลูมิเนียม ทำให้จะไม่มีของเสียเหลือออกนอกระบบ

นายธีรวุธ ตันนุกิจ วิศวกรโลหการชำนาญการพิเศษ สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐาน กพร.

ทั้งนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อรองรับปริมาณแผงโซลาร์เซลล์ที่จะทยอยหมดอายุการใช้งาน ซึ่ง กพร. ประเมินว่าจะมีแผงโซลาร์เซลล์ทยอยหมดอายุประมาณ 150 ตันต่อปี ในช่วง 5 ปีจากนี้ (นับจากปี 2562) โดยเป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งมีอายุการใช้งาน 15-20 ปี และภายในปี 2575 คาดว่าจะมีจำนวนแผงโซลาร์เซลล์ทยอยหมดอายุเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็น 7.5 แสนตัน เนื่องจากมีการติดตั้งเพิ่มขี้นต่อเนื่องทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน ดังนั้น จึงต้องเตรียมความพร้อมในการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่จะออกมาสู่ระบบเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีผู้ประกอบการโรงงานรีไซเคิลราว 2-3 ราย แสดงความสนใจที่จะลงทุนเทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว หลังจากที่ กพร. เปิดอบรมความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้และให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเพื่อขยายผลเชิงพาณิชย์ โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมอบรมกว่า 100 คน แต่ทั้งนี้จะต้องแจ้งขออนุญาตเพิ่มประเภทหรือรายการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มเติมต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนจะลงทุนและเริ่มทำการรีไซเคิลได้เมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณแผงที่รวบรวมได้

“โดยทั่วไปแผงโซลาร์เซลล์ที่ชำรุดหรือหมดอายุการใช้งานจะมีโลหะเงินเป็นองค์ประกอบประมาณ 0.06% หรือหากคิดเป็นแผงน้ำหนัก 1 ตัน จะสกัดเงินบริสุทธิ์ได้ 250-300 กรัม ราคาขายประมาณ 20 บาทต่อกรัม แม้มูลค่าไม่เยอะแต่ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ที่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น กระจกก็สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมแก้วและกระจก อลูมิเนียมก็นำไปใช้ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งเป็นอลูมิเนียมที่เจือซิลิกอนเข้าไป“ นายธีรวุธ กล่าว

ส่วนการรีไซเคิลซิลิกอนซึ่งสกัดได้จากแผงโซลาร์เซลล์นั้น กพร.จะต้องทำการทดสอบประสิทธิภาพก่อนว่าสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมใดได้บ้าง ระหว่างการนำไปเป็นวัตถุดิบให้โรงงานผลิตอลูมิเนียม หรือโรงงานเหล็กฉาบซิลิกอน เนื่องจากประเทศไทยไม่มีโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์เกรดซิลิกอนจึงไม่สามารถวนกลับไปเป็นวัตถุดิบป้อนให้แก่โรงงานได้ แต่ไทยมีโรงงานผลิตเกรดโลหะปกติซึ่งนำไปเป็นโลหะเจือในอลูมิเนียมซิลิกอนที่อยู่ในชิ้นส่วนยานยนต์ หรือเหล็กฉาบซิลิกอนที่นำไปผลิตเหล็กคุณภาพสูงได้ ซึ่งราคาซิลิกอนรีไซเคิลจะอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นบาทต่อตัน จากราคาปกติอยู่ที่ประมาณ 8-9 แสนบาทต่อตัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2553 – 2562 กพร. ได้พัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลและถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้ที่สนใจแล้วกว่า 2,000 ราย เกิดธุรกิจรีไซเคิลของเสียอุตสาหกรรมรายเล็กมากกว่า 50 ราย และผู้ประกอบการนำไปต่อยอดภายในสถานประกอบการ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 100-150 ล้านบาทต่อปี

Advertisment