กบง.นัดถกแก้สำรองไฟฟ้าล้นและหลักเกณฑ์เปิดเสรีก๊าซ​ 5​ มี.ค.นี้

819
N2032
- Advertisment-

คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน​ (กบง.) นัดประชุมวาระสำคัญทั้งแนวทางบริหารจัดการสำรองไฟฟ้าล้นระบบระยะสั้น และหลักเกณฑ์การเปิดเสรีและโครงสร้างราคาก๊าซในส่วนที่เป็นดีมานด์ใหม่​ 5​มี.ค.นี้​ ระบุแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าเริ่มสูงขึ้น ตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังไทยได้รับวัคซีนโควิด-19 และอาจจะมีความจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่โรงใหม่เข้าระบบหลังปี 2569

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน( Energy News Center-ENC​ ) รายงานว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน​ (กบง.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน จะมีการประชุมกันในวันที่ 5 มี.ค. 2564 นี้ เพื่อพิจารณาแนวทางบริหารจัดการปริมาณสำรองไฟฟ้าระยะสั้น​ ตามที่ได้มีการมอบหมายคณะทำงานชุดที่มีนายพรชัย​ รุจิประภา​ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน​ เป็นประธาน​เป็นผู้นำเสนอแนวทาง​ เนื่องจากขณะนี้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยล้นระบบสูงกว่า 40% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ

โดยจะมีการนำเสนอหลายแนวทางให้ กบง.พิจารณาว่าสิ่งใดควรดำเนินการก่อนหรือหลังและข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการพิจารณาปรับลดสำรองไฟฟ้าจะพิจารณาถึงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งจะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมกลับมาดำเนินธุรกิจได้เหมือนเดิม และจะส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าฟื้นกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็วได้ด้วย ที่หากปลดหรือเลื่อนโรงไฟฟ้าเข้าระบบอาจทำให้ปริมาณไฟฟ้าไม่สมดุลกับความต้องการใช้ได้

- Advertisment -

นอกจากนี้ต้องพิจารณาถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะมากขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC ), การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า​(EV) ,รถไฟฟ้าความเร็วสูง และเทคโนโลยี 5G ในอนาคต ที่จะทำให้การใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้

อย่างไรก็ตามจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเริ่มสูงกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป และปริมาณสำรองไฟฟ้าจากกว่า 40% จะลดลงเหลือ 15-17% และลดลงทุกปี ซึ่งหลังจากนั้นไทยต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่มารองรับความต้องการไฟฟ้าที่สูงขึ้น โดยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะต้องใช้เวลาก่อสร้าง 5-6 ปี ดังนั้นหากจะให้ไฟฟ้ามีเพียงพอในปี 2569 อาจจำเป็นต้องเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป

โดยแผนPDP ฉบับปัจจุบันจะไม่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่โรงใหม่เข้าระบบ ซึ่งโรงไฟฟ้าที่อยู่ในแผนส่วนใหญ่​ จะเป็นโรงไฟฟ้าที่เข้ามาทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่จะปลดระวางออกไป ดังนั้นเมื่อไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่ก็จะทำให้สำรองไฟฟ้าที่ล้นระบบค่อยๆลดลง ประกอบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะกลับมาสูงขึ้น จึงต้องเตรียมพร้อมให้มีโรงไฟฟ้าใหม่มาเสริมระบบในอนาคต

สำหรับกรณีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่โรงใหม่ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA ) กับทาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามแผนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2564 ได้แก่ โรงไฟฟ้าของกัลฟ์เอสอาร์ซี ชุดที่ 1 กำลังการผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์ เข้าระบบ ,ปี 2565 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์เอสอาร์ซี ชุดที่ 2 กำลังการผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์เข้าระบบ , ปี 2566 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์พีดี ชุดที่ 1 กำลังการผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์เข้าระบบ ,ปี 2567 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์พีดี ชุดที่ 1 กำลังการผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าหินกองชุดที่ 1 กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบ และปี 2568 จะมีโรงไฟฟ้าหินกองชุดที่ 2 กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบ โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้มีการคำนวณถึงปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ลดลงในแต่ละปี รวมถึงโรงไฟฟ้าที่ต้องปลดออกจากระบบเพราะหมดอายุด้วย

สำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ต.ค.2563 ที่ผ่านมา มีข้อมูลคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ปี 2563 อยู่ที่ 32,732 เมกะวัตต์ แต่พีคไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเดือน มี.ค. 2563 อยู่ที่ 28,636 เมกะวัตต์ ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ซึ่งจะเข้าระบบปี 2563 จะมีมากถึง 51,943 เมกะวัตต์ จึงทำให้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเหลืออยู่ในระบบมากถึง 23,307 เมกะวัตต์

ผู้สื่อข่าว รายงานด้วยว่า​ กบง.จะมีการพิจารณารายงาน​จากคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการ ก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่มีนายณอคุณ สิทธิพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ที่ผ่านมา ที่มีการประชุมกันจนได้ข้อสรุปในแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ และโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ แล้ว ซึ่งหาก​ กบง.เห็นชอบก็จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้ความเห็นชอบ​ ในการประชุมช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้​ และจะมีผลให้ กฟผ.รวมทั้ง ผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติหรือ Shipper ที่เป็นเอกชนรายใหม่ สามารถที่จะเริ่มนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ) ได้ตามแผนที่ทาง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ.เห็นชอบ ต่อไป

Advertisment