กกพ. เร่งส่งเสริมติดตั้งโซลาร์ภาคประชาชน ปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค

261
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ.
- Advertisment-

กกพ. เร่งส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปต่อเนื่อง ตอบโจทย์นโยบายรัฐ พร้อมเป็นหน่วยงาน One Stop Service ปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคสำหรับประชาชน

แนวโน้มการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านที่อยู่อาศัย หรือโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนในประเทศไทย ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่รัฐบาลมีแนวทางการส่งเสริมที่ชัดเจน ทั้งการปรับราคาการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเข้าสู่ระบบ และการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นปัญหาอุปสรรคสำหรับภาคประชาชน โดยภาครัฐอยู่ระหว่างการทบทวนปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปที่มีเพิ่มมากขึ้นจากเดิม โดยตั้งเป้าหมายรับซื้อไว้ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2565 ไปจนถึงปี 2573 แต่ปรากฏว่าผ่านไปเพียงไม่ถึง 3 ปี ก็มีผู้ยื่นขอติดตั้งใกล้ครบจำนวนตามเป้าหมาย 90 เมกะวัตต์แล้ว

ทั้งนี้ การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปนั้น เหมาะสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน หรือปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อเดือนมากกว่า 400 หน่วย เพราะแทนที่จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราก้าวหน้า 4.42 บาทต่อหน่วย ก็สามารถที่จะชดเชยด้วยการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่มีต้นทุนถูกมากกว่าในช่วงเวลากลางวัน และหากเป็นกลุ่มที่เลือกใช้มิเตอร์ที่คิดอัตราตามช่วงเวลาการใช้ (Time of Use Tariff -ToU) ที่มีอัตราค่าไฟฟ้าช่วง On-Peak (9.00 น.-22.00 น.) อยู่ที่ 5.79 บาทต่อหน่วย ส่วนช่วง Off-Peak (22.00 น.-9.00 น.) ค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 2.63 บาทต่อหน่วย ก็สามารถปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมได้มากขึ้น เพราะช่วงเวลากลางวันที่ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์จะยิ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าได้มากขึ้น

- Advertisment -

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทของ สำนักงาน กกพ. ในการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ภาคประชาชน ว่า สำนักงาน กกพ. ได้ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565 ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และ มติ ครม. ที่ส่งเสริมให้บ้านที่อยู่อาศัยติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา โดยตั้งเป้าหมายปีละ 10 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 9 ปี (2565-2573)

อย่างไรก็ตาม การที่มีประชาชนยื่นขอติดตั้งเข้ามาจำนวนมากจนใกล้เต็มจำนวนโควต้า 90 เมกะวัตต์ตามเป้าหมายแล้วหลังจากที่เปิดให้ยื่นขอเข้าร่วมโครงการไปได้เพียง 3 ปี ทำให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านนโยบายต้องทบทวนเป้าหมายอีกครั้ง และจะนำเสนอให้ กพช. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นผู้พิจารณา และเชื่อว่าน่าจะมีข่าวดีสำหรับประชาชนที่สนใจอยากจะเข้าร่วมโครงการ

สำหรับการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนในช่วงที่ผ่านมา ได้แบ่งการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบเป็น 2 กลุ่มหลักๆ  โดยกลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ติดตั้งกำลังผลิตน้อยกว่า 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ ที่ผ่านมาจะต้องมาจดแจ้งยกเว้นที่ สำนักงาน กกพ. และยื่นขอขนานไฟฟ้าที่สำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่ที่ยื่นขอติดตั้ง ซึ่ง สำนักงาน กกพ. ได้พิจารณาอำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยให้ยื่นขอขนานไฟฟ้าที่สำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่เพียงหน่วยงานเดียว โดยให้ถือว่าได้ยื่นจดแจ้งยกเว้นที่ สำนักงาน กกพ. แล้ว จากนั้นการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะส่งข้อมูลมาที่ สำนักงาน กกพ. เพื่อรับแจ้งยกเว้นแก่ประชาชนต่อไป ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินการมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

และกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากกว่า 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป ซึ่ง สำนักงาน กกพ. ได้สนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงทั้งระเบียบ หลักเกณฑ์ขั้นตอนต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการที่จะขอใบอนุญาต และเป็นไปได้ว่าในอนาคต ผู้ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกลุ่มนี้ในบางขนาดของการผลิตไฟฟ้าอาจจะไม่จำเป็นต้องมีการขอใบอนุญาตอีกต่อไป โดย สำนักงาน กกพ. กำลังอยู่ระหว่างการทบทวนระเบียบหลักเกณฑ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ และหน้าที่ของสำนักงาน กกพ.

ทั้งนี้ ในส่วนของการให้บริการประชาชน สำนักงาน กกพ. ต้องการให้เป็น แบบ One Stop Service คือประชาชนที่สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป สามารถมายื่นเรื่องขออนุญาตได้ที่ สำนักงาน กกพ. เพียงจุดเดียว จากนั้น สำนักงาน กกพ. จะเป็นผู้ประสานการขออนุญาตไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยขั้นตอนที่ต้องขอให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม พิจารณาว่าการผลิตไฟฟ้าที่ยื่นขอติดตั้งเข้าข่ายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม หรือที่เรียกว่าใบอนุญาต รง.4 นั้น มีการปลดล็อกได้รับการยกเว้นโดย มติ ครม.ไปแล้ว ส่วนขั้นตอนการพิจารณาว่าการติดตั้งมีความมั่นคงปลอดภัยหรือไม่ หรือใบอนุญาตที่เรียกว่า พค.2 ซึ่งเป็นพลังงานควบคุมที่ทาง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นผู้ดูแลอยู่นั้น  กำลังอยู่ในขั้นตอนส่งเรื่องไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณา จากนั้นจะเสนอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบต่อไป  โดยหากสามารถปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการติดตั้งเหล่านี้ให้มีความรวดเร็ว อยู่ในกรอบเวลาไม่เกิน 180 วัน ก็จะเกิดความคล่องตัว และสามารถยื่นเรื่องแบบ One Stop Service ได้จะช่วยให้เกิดความคล่องตัวสำหรับประชาชน และเพิ่มแรงจูงใจให้มีการเข้าร่วมโครงการมากยิ่งขึ้น เรียกว่า “ปลดล็อคข้อจำกัด ลดขั้นตอน เพิ่มความคล่องตัว”

นอกจากนี้ ในการยื่นขออนุญาตเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป สำนักงาน กกพ. จะมีการนำระบบดิจิตัลมาใช้ โดยพัฒนาระบบที่เรียกว่า E-licensing หรือ Electronic Licensing มาใช้เพื่อให้การยื่นขออนุญาตมีความสะดวกสบายมากขึ้น โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสารต่างๆ และดำเนินการยื่นเอกสาร ติดตามความคืบหน้าผ่านระบบออนไลน์ได้ทั้งหมด ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.erc.or.th ของ สำนักงาน กกพ.

การดำเนินการดังกล่าวนี้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ช่วยลดระยะเวลา และขั้นตอนการยื่นขออนุญาต ทั้งยังเพิ่มความโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นในบทบาทและหน้าที่ของ สำนักงาน กกพ. ในการกำกับดูแลมาตรฐานและความปลอดภัยของโครงการพลังงาน ดำเนินการให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกด้านการขออนุญาต ลดค่าธรรมเนียมและปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในภาคประชาชน อีกทั้ง ยังช่วยเร่งกระบวนการตรวจสอบ และเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าเข้ากับโครงข่ายให้ได้เร็วขึ้น

#กองทุนพัฒนาไฟฟ้า #กกพ #พลังงานสะอาด

Advertisment