กกพ. เดินหน้ารับฟังความเห็น ขยายไฟฟ้าพื้นที่เกษตร วงเงิน 2,500 ล้านบาท ระหว่าง 29 พ.ค.-12 มิ.ย. 2567

- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความเห็น “โครงการขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร ระยะที่ 3 (คขก.3) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)” ระหว่างวันที่ 29 พ.ค.-12 มิ.ย. 2567 ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี วงเงินรวม 2,500 ล้านบาท ระบุแม้ไม่คุ้มค่าด้านผลตอบแทนการลงทุน แต่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้ รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ย้ำกระทบค่าไฟฟ้าขายส่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 0.00042 บาทต่อหน่วย

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็น “โครงการขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร ระยะที่ 3 (คขก.3) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)” ระหว่างวันที่ 29 พ.ค.-12 มิ.ย. 2567 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. www.erc.or.th  

โดยโครงการดังกล่าว เป็นโครงการจัดหาไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร ในเขตพื้นที่ กฟภ. 74 จังหวัดทั่วประเทศ มีเป้าหมายขยายเขตไฟฟ้าให้เกษตรกรจำนวน 50,000 ราย ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) โดยมีวงเงินลงทุนรวม 2,500 ล้านบาท  

- Advertisment -

สำหรับโครงการ คขก.3 ดังกล่าว ถือว่าไม่คุ้มค่าด้านผลตอบแทนทางการเงิน แต่มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากมีประโยชน์โดยตรงกับเกษตรกร ช่วยสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียงของครัวเรือนเกษตรกรระดับรากหญ้า ทำให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาชนบท ยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยของเกษตรกร ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมเมืองและชนบท เป็นการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

โดยโครงการ คขก.3 นี้ มีวงเงินลงทุนรวม 2,500 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งเป็นการลงทุนระหว่างปี 2567-2571 โดยแต่ละปีจะใช้เงินลงทุน 500 ล้านบาท ซึ่ง กฟภ.จะใช้เงินรายได้ กฟภ.เอง 25% และเงินกู้ในประเทศ 75%

ทั้งนี้การจัดทำโครงการดังกล่าว ทาง กฟภ. ได้ประมาณการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ทำกินทางการเกษตร จากการศึกษาปริมาณการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ทำกินทางการเกษตรจำแนกตามภูมิภาค ร่วมกับผลการพยากรณ์พื้นที่ทำกินทางการเกษตร เพื่อพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ยังเป็นโครงการที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 การจัดหาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและพัฒนาระบบโครงข่ายอัจฉริยะ และสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานทั้งระบบให้มีความมั่นคงและเหมาะสม ทันสมัย สามารถรองรับความต้องการใช้พลังงานตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนหลักเกณฑ์และการคัดเลือกพื้นที่ขยายเขตไฟฟ้าที่สำคัญ เป็นดังนี้ 1.ค่าใช้จ่ายในการขยายเขตไม่เกิน 70,000 บาทต่อราย 2.ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร 3.ต้องไม่อยู่ในเขตพื้นที่หวงห้ามใดๆ ของทางราชการ 4.ต้องมีทางสาธารณะที่รถยนต์ผ่านได้อย่างสะดวก และสามารถก่อสร้างระบบจำหน่ายโดยวิธีปักเสาพาดสายได้ 5.ต้องมีเอกสารที่ดินทำกินที่ถูกต้อง 6.เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ติดตั้งมิเตอร์ขนาดไม่เกิน 15(45) แอมป์ต่อราย หรือติดตั้งมิเตอร์ขนาด 5(100) แอมป์ ที่ใช้กับเซอร์กิตเบรกเกอร์พิกัดปรับตั้งแต่สูงสุดไม่เกิน 50 แอมป์ต่อราย และ 7. ไม่ต้องระบุแหล่งน้ำที่จะใช้เพื่อกิจกรรมทางการเกษตร

ทั้งนี้โครงการ คขก.3 ถือว่ามีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าขายส่งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพียงแค่ 0.00042 บาทต่อหน่วย

Advertisment