เลขาธิการสำนักงาน กกพ. คนใหม่ คาดกระบวนการจัดทำ Direct PPA เสร็จภายในปี 2567

2770
- Advertisment-

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน คนใหม่ คาดกระบวนการจัดทำ มาตรการส่งเสริมให้บริษัทเอกชนซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนได้โดยตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้า (Direct PPA) เสร็จภายในปี 2567 นี้ เพื่อให้เอกชนผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้ซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง หวังดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม โดย สนพ.จะเสนอรายละเอียด  ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 25 มิ.ย. 2567 พร้อมเปิดวิสัยทัศน์ในการบริหารงาน เน้นการเป็นหน่วยงานแห่งความเชื่อมั่น และไว้วางใจของสังคมในการกำกับกิจการพลังงานภายใต้ยุทธศาสตร์ Trusted OERC 4 ด้าน

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( สำนักงาน กกพ. ) เปิดเผยหลังเข้าบริหารงานในตำแหน่ง เลขาฯ สำนักงาน กกพ. คนใหม่ว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้จัดทำรูปแบบ “มาตรการส่งเสริมให้บริษัทเอกชนซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนได้โดยตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้า หรือ Direct PPA (Purchase Power Agreement)” เพื่อให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 25 มิ.ย. 2567 นี้

โดยจะมีการเสนอรายละเอียดทั้งด้านเทคนิคการทำงานร่วมกับการไฟฟ้า, การเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access) , อัตราค่าบริการสายส่งไฟฟ้า (Wheeling Charge) เและรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ กกพ.จะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567 นี้ เนื่องจากนักลงทุนในปัจจุบันต่างให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดเป็นหลัก เพื่อแสดงให้เห็นว่ากระบวนการผลิตได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและป้องกันการกีดกันทางการค้าในอนาคต

- Advertisment -

สำหรับ Direct PPA นั้น เป็นการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดระหว่างเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง แต่อาศัยสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าในการจ่ายกระแสไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนรายใหญ่ เช่น กลุ่มธุรกิจจากต่างประเทศด้าน Data Center และบริษัท Amazon เป็นต้น ได้ให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย

ส่วนความคืบหน้า “โครงการซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่เจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT 2)” ล่าสุด กกพ.ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนไปแล้ว และอยู่ระหว่างให้ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ., การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) นำไปปรับปรุงกระบวนการซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้ และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ต้นปี 2568  

โดยโครงการ UGT 2 เป็นรูปแบบที่ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้า และจะมีการออกใบรับรองการซื้อขายไฟฟ้าให้ผู้ใช้ เพื่อเป็นเอกสารยืนยันการใช้ไฟฟ้าสีเขียวในกระบวนการผลิต โดยข้อดีคือราคาค่าไฟฟ้าจะคงที่ และการไฟฟ้าจะเป็นตัวกลางดูแลไฟฟ้าให้เกิดความมั่นคงและเสถียร ซึ่งแตกต่างจาก Direct PPA ที่ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดจะตกลงซื้อขายไฟฟ้ากับผู้ใช้โดยตรง โดยใช้ระบบสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้า ดังนั้นต้องมีรายละเอียดและการกำหนดหลักเกณฑ์กติกาเพื่อให้มีหลักประกันความมั่นคงไฟฟ้าต่อผู้ซื้อและผู้ขายในอนาคต  

นอกจากนี้ในส่วนของ “โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565” เฟส 2 ปริมาณ 3,668.5  เมกะวัตต์ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างปรับปรุงเงื่อนไขโครงการบางประการ เช่น การห้ามฟ้องร้อง เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ตามแผนงาน และจะเสนอกระทรวงพลังงานพิจารณาต่อไป  

นายพูลพัฒน์ กล่าวถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้างวดสิ้นปี (ก.ย.-ธ.ค. 2567) ว่า กกพ.กำลังติดตามปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด ทั้งด้านราคาก๊าซธรรมชาติ, อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท และการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่างๆ ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ บอร์ด กกพ. เบื้องต้นอาจได้รับข่าวดีเรื่องค่าไฟฟ้า เนื่องจากต้นทุนราคาก๊าซฯ ปรับลดลงกว่าที่ผ่านมา เหลือ 12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ซึ่ง กกพ.จะพิจารณาค่าไฟฟ้าตามหลักวิชาการและจะเป็นค่าไฟฟ้าที่แท้จริง ส่วนภาครัฐจะช่วยเหลือค่าไฟฟ้าอย่างไรต้องขึ้นกับนโยบายรัฐบาลเป็นหลัก

สำหรับวิสัยทัศน์ในการบริหารงานในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน กกพ. คนใหม่นั้น  จะมุ่งเน้นการเป็นหน่วยงานแห่งความเชื่อมั่น และไว้วางใจของสังคมในการกำกับกิจการพลังงานภายใต้ยุทธศาสตร์ Trusted OERC 4 ด้าน ได้แก่

1. Trusted Regulation สร้างความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลกิจการพลังงานด้วยการประสานความร่วมมือกับภาคนโยบาย ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วยการวางบทบาทสำนักงาน กกพ. ให้เป็นองกรค์กำกับดูแลกิจการพลังงานภายใต้นโยบาย พร้อมกับจะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้และยกระดับการกำกับดูแลตามภารกิจให้ครบถ้วนและเกิดความยั่งยืน

2. Trusted Research & Innovation ทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ขยายเครือข่ายและแลกเปลี่ยนวิธีการและแนวทางการกำกับกิจการพลังงานกับองค์กรกำกับดูแลด้านพลังงานในต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยร่วมกันกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหล่อหลอมเป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่เหมาะสมต่อการกำกับกิจการพลังงานของไทย

3. Trusted Management มุ่งพัฒนาการบริหารองค์กรให้สามารถกำกับดูแลกิจการพลังงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ควบคู่กับการยกระดับพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรให้ตอบสนองและรองรับต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งอนาคตที่มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตอบโจทย์ในทุกภารกิจของสังคมทั้งในวันนี้และวันหน้า

4. Trusted Engagement สร้างการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานและพัฒนาเครือข่ายพันธมิตรการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจต่อพื้นที่ชุมชนอย่างยั่งยืน สื่อสารประชาสัมพันธ์การกำกับกิจการพลังงานอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อมวลชนครอบคลุมทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค

ส่วนความท้าทายของภาคพลังงานไทยในระยะต่อไปก็คือ การสร้างความสมดุล ความเป็นธรรม และความเท่าเทียมในการแข่งขัน ทั้งในภาคพลังงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมให้ประเทศ และผู้ประกอบการภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมภาคเอกชน ให้สามารถดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทิศทางพลังงานสะอาดอย่างมีผลกระทบน้อยที่สุด

Advertisment