กกพ.ประกาศ 36 โครงการผ่านเกณฑ์ร่วมโครงการ ERC Sandbox ระยะ2 บริษัทยักษ์ใหญ่พลังงานแห่ร่วมคึกคัก

1912
- Advertisment-

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประกาศ 36 โครงการ จาก 23 หน่วยงาน ผ่านการพิจารณาเข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 ของ กกพ. โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คว้ามากสุด 4 โครงการ ขณะบริษัทด้านพลังงานรายใหญ่แห่เข้าร่วมคึกคัก ทั้ง 3 การไฟฟ้า, กัลฟ์,กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง,  GPSC, SCG ,ส.อ.ท. , บีกริมฯ  , เอ็กโก กรุ๊ป และ พลังงานบริสุทธิ์  ชี้เป็นการทดสอบนวัตกรรมร่วมกันระหว่าง กกพ. และผู้ร่วมโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการให้บริการทางพลังงาน รองรับธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาโลกร้อน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2565 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ลงนามประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าร่วม “โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน ระยะที่ 2”  หรือ  “ERC Sandbox ระยะที่ 2” โดยมีโครงการที่ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้น 36 โครงการ จาก 23 หน่วยงาน   

โดยโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับการอนุมัติมากที่สุด 4 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแบบเพียร์ทูเพียร์ของ กฟผ. , 2.โครงการ V2G และ VPP ของ กฟผ. , 3.โครงการทดสอบกลไกจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยใช้  Sleeved PPA (Utility Green Tariff แบบเจาะจงที่มา) และ 4.โครงการโรงไฟฟ้าเสมือน โซลาร์เซลล์ พลังงานน้ำ แบตเตอรี่ สามารถควบคุมกำลังการผลิตได้เพื่อพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อถือได้

- Advertisment -

ส่วนบริษัทที่ได้รับการพิจารณารวม 3 โครงการ มี 2 รายได้แก่ บริษัท กัลฟ์ 1 จำกัด และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) โดย 3 โครงการที่ บริษัท กัลฟ์ 1 จำกัด ได้รับการอนุมัติ ได้แก่ 1. โครงการนำร่องสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเสมือนในประเทศไทย, 2.โครงการนำร่องสร้างกลไกราคา REC จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และ 3.โครงการทดสอบการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายในกลุ่มธุรกิจในเครือผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้านครหลวง

สำหรับ 3 โครงการที่ PEA ผ่านการพิจารณา ได้แก่ 1.โครงการนำร่องการให้บริการรับส่งพลังงานไฟฟ้าผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และลูกค้าของผู้ผลิตไฟฟ้า ระยะที่ 2,  2.โครงการนำร่องการพัฒนานวัตกรรมทางด้านการบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์  และ 3. โครงการศึกษาและพัฒนาแพลตฟอร์มรับฝากพลังงานส่วนเหลือบนระบบกักเก็บพลังงานเสมือนสำหรับบ้านพักอาศัย

นอกจากนี้มี 5 รายที่ผ่านการพิจารณารายละ 2 โครงการ ได้แก่  1.บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)  ได้แก่ โครงการแพลตฟอร์มโรงไฟฟ้าเสมือนเพื่อบริหารจัดการพลังงานและคาร์บอนของโปรซูเมอร์และผู้ใช้ไฟฟ้าในโครงข่ายการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และโครงการแพลตฟอร์มโรงไฟฟ้าเสมือนเพื่อบริหารจัดการพลังงานและคาร์บอนของโปรซูเมอร์และผู้ใช้ไฟฟ้าในโครงข่ายการไฟฟ้านครหลวง

2. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ได้แก่ โครงการศึกษาและพัฒนาระบบการซื้อขายพลังงานและใบรับรองเครดิตพลังงานหมุนเวียน และโครงการศึกษารูปแบบธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าผ่านคนกลางโดยเชื่อมต่อระบบโครงข่ายการไฟฟ้า TPA ภายใต้ PPA รูปแบบใหม่

3.บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด ได้แก่ โครงการนวัตกรรมแพลตฟอร์ม สำหรับธุรกิจซื้อขายพลังงานและคาร์บอนในรูปแบบใหม่ และโครงการการซื้อขายพลังงานและคาร์บอนด้วยสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าเสมือน ระยะยาวผ่านแพลตฟอร์มนวัตกรรมสีเขียว

4.บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จำกัด ได้แก่ โครงการแบตเตอรี่เสมือน เพื่อการใช้ประโยชน์สูงสุดจากโซลาร์รูฟท็อป โดยขจัดการสูญเสียไฟฟ้าส่วนเกิน และโครงการศึกษาและพัฒนาแพลตฟอร์มรับฝากพลังงานส่วนเหลือบนระบบกักเก็บพลังงานเสมือนสำหรับบ้านพักอาศัย  และ 5. บริษัท อิมแพค โซลาร์ จำกัด ได้แก่ โครงการหมู่บ้านพลังงานสะอาด และโครงการอิมแพคโซลาร์แอ็คเซส

นอกจากนี้มี 16 รายที่ผ่านการพิจารณาเพียงโครงการเดียว ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) , บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด, บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด(มหาชน), บริษัท  ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน), บริษัท บีกริม เพาเวอร์ (แหลมฉบัง) 2 จำกัด, การไฟฟ้านครหลวง ,

 บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เสนาโซลาร์, บริษัท ยูวีบีจีพี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด, บริษัท ซุปเปอร์โซลาร์ เอนเนอร์ยี จำกัด, บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน),บริษัท อาร์ดับบลิว แอสเซท จำกัด, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, บริษัท คลีนเนอร์ยี่ เอบีพี จำกัด, บริษัท ไฮมีเดีย เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท ไฮยาพาโดส จำกัด

โดยทั้ง 23 ราย ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ(บอร์ด) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ในการประชุมเมื่อวันที่  10 ส.ค. 2565 ซึ่งโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 ดังกล่าว เปิดรับสมัครตั้งแต่ 1-30 มิ.ย. 2565 ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้ทดสอบนวัตกรรมร่วมกันระหว่าง กกพ. และผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะเน้นรูปแบบธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ ระบบ เครื่องมือ หรือบริการด้านพลังงานที่ยังไม่เคยนำมาใช้งาน เพื่อมุ่งเป้าหมาย เพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้พลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการให้บริการด้านพลังงาน รองรับธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ๆ สอดคล้องกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางพัฒนา การกำกับดูแลนวัตกรรมพลังงานสะอาด และสอดรับกับหลักเกณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม

Advertisment