โซลาร์ภาคประชาชนต้นแบบ อาจไม่เสร็จใน 60 วัน ชี้หากปรับเพิ่มอัตราค่าไฟใหม่ ต้อง ให้ กพช.อนุมัติ

Exif_JPEG_420
- Advertisment-

โครงการโซลาร์ภาคประชาชนต้นแบบที่รัฐมนตรีพลังงานมอบเป็นนโยบายให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 60 วัน  อาจจะมีความล่าช้า เพราะหากมีการปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าใหม่ แทนอัตรา 1.68 บาทต่อหน่วยเดิม จำเป็นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือสำนักงาน กกพ. ยังมีความเป็นห่วงเรื่องภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า นโยบายโซลาร์ภาคประชาชนรูปแบบใหม่ ที่จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมภาคประชาชนเพื่อผลักดันโครงการต้นแบบภายใน 60 วัน ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ได้มีการหารือร่วมกับ เครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย นางสาวรสนา โตสิตระกูล และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์  เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2563 ที่ผ่านมา  จำเป็นจะต้องนำเสนอให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานให้ความเห็นชอบก่อน จึงจะสามารถออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าในอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ ที่สูงกว่า 1.68 บาทต่อหน่วยได้    อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มอัตรารับซื้อที่สูงเกินไป เพื่อให้มีผู้ร่วมโครงการจำนวนมาก  จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าแน่นอน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ในสมัยที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์  เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่กำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าปีละ 100 เมกะวัตต์ และมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่ขายเข้าระบบ ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย นั้น เพราะ ต้องการให้ประชาชนมีการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป ผลิตไฟใช้เองในช่วงกลางวัน ซึ่งจะช่วยลดพีคไฟฟ้า ให้กับระบบ และหากมีไฟฟ้าส่วนเกินเหลือใช้จึงค่อยขายเข้าระบบ ดังนั้น ผู้ที่เข้าร่วมโครงการที่มีความคุ้มค่ากับการลงทุน  จะต้องเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าจำนวนมากในช่วงกลางวัน เช่น คนที่ทำบ้านเป็น โฮมออฟฟิศ   แต่ไม่สนับสนุนให้คนเข้าร่วมโครงการเพื่อต้องการรายได้จากการขายไฟฟ้าเข้าระบบเป็นวัตถุประสงค์หลัก     ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมามีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการน้อยมาก เพียง 1.8 เมกะวัตต์ เท่านั้น

- Advertisment -
Advertisment

- Advertisment -.