รัฐเตรียมศึกษาโมเดลให้ขายไฟฟ้าจากแบตฯรถEV เข้าระบบได้ หวังช่วยลดพีคไฟฟ้าในอนาคต

- Advertisment-

กระทรวงพลังงาน เตรียมศึกษาแนวทางให้ผู้ใช้รถ EV นำไฟฟ้าเหลือใช้ในแบตเตอรี่ไปขายเข้าระบบไฟฟ้าได้ หวังช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าช่วงเกิดพีค และลดการสร้างโรงไฟฟ้าในอนาคตลงได้ พร้อมยืนยันเป้าหมายส่งเสริมใช้รถ EV 1.2 ล้านคันในปี 2573  ด้านสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเสนอ 8 ข้อ ให้รัฐบาลส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวในงานสัมมนา “ทิศทางยานยนต์ไฟฟ้าของไทย” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร  เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2563 ว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการเตรียมศึกษาแนวทางให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) สามารถขายไฟฟ้าส่วนเหลือจากแบตเตอรี่รถ EV เข้าระบบผลิตไฟฟ้าได้ เพื่อให้ระบบแบตเตอรี่รถ EV กลายเป็นระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ขึ้น จะช่วยลดการสร้างโรงไฟฟ้าในอนาคตได้โดยกระทรวงพลังงานจะศึกษาทั้งรูปแบบและกฎระเบียบรองรับแนวทางดังกล่าวต่อไป

ส่วนเทคโนโลยี สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าขึ้นมากสู่ระดับการเป็นสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Charge) ซึ่งสามารถคำนวณได้ว่าควรจะชาร์จไฟฟ้าช่วงไหนเพื่อให้ได้อัตราค่าชาร์จไม่แพง รวมถึงแบตเตอรี่รถ EV สามารถทำเป็นโรงไฟฟ้าเสมือนได้ ด้วยการให้รถ EV สามารถปล่อยประจุไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างรายได้ให้ผู้ใช้รถ EV ได้อีกทางหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องนำมาศึกษารูปแบบและประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับประเทศต่อไป

- Advertisment -

สำหรับแผนส่งเสริมรถ EV ในไทยนั้น กระทรวงพลังงานยังคงเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดการใช้รถEV 1.2 ล้านคันภายในปี 2573 ตามแผน และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านระบบไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station)และเทคโนโลยีรถEV รวมทั้งกระทรวงพลังงานยังมีแผนระบบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid), ระบบมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ(Smart Meter) และแผนลดการใช้ไฟฟ้าประชาชนภาคสมัครใจ (Demand Response)  โดยปริมาณสำรองไฟฟ้าที่มีอยู่เพียงพอรองรับรถ EV ในช่วงเปลี่ยนผ่านได้มากกว่า 3 ล้านคัน

นายระวี มาศฉมาดล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้รถEV ยังเติบโตท่ามกลางปัญหาราคาน้ำมันโลกตกต่ำและCovid-19  คือรถ EV ช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)ได้ ในอีก 30 ปีข้างหน้าอนาคตโลกมีแนวโน้มการใช้รถ EV มากถึง 60% ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมด หรืออาจจะเร็วกว่านั้นหากราคาแบตเตอรี่รถEV ลดลง เนื่องจากปัจจุบันราคาแบตเตอรี่คิดเป็น 40-50% ของราคารถ EV  หากราคาแบตเตอรี่ลดเหลือเพียง 30% จะทำให้รถ EV มีราคาเท่ากับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในปัจจุบัน ซึ่งหากไทยไม่ปรับตัวตั้งแต่ตอนนี้จะส่งผลให้ไทยเสียฐานการผลิตรถ EV ของอาเซียนให้กับประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซีย จนสุดท้ายไทยต้องนำเข้ารถEV จากต่างประเทศเข้ามาแทน ทำให้ไทยขาดโอกาสสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของตัวเองไป
ดังนั้นคณะกรรมาธิการพลังงาน ได้จัดตั้งอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้าขึ้น โดยมีคณะกรรมการถึง 30 คนจากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ มาร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ว่าจะมีแนวทางการเปลี่ยนแปลงนโยบายประเทศอย่างไรเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการใช้รถ EV มากขึ้น ที่ผ่านมาได้หารือร่วมกันจนได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า การขับเคลื่อนให้ประสบผลสำเร็จจะต้องมีความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐที่กำกับนโยบาย ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ลงทุนและภาคประชาชนที่เป็นผู้ใช้จึงจะสำเร็จ ซึ่งการจัดสัมมนาครั้งนี้จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การส่งเสริมให้ใช้รถ EV ควรวางแผนอย่างเป็นระบบ เริ่มด้วยการสร้างความต้องการใช้ให้เกิดขึ้นในประเทศ โดยการลดอุปสรรคด้านราคารถEV ก่อน ด้วยการกำหนดปริมาณแบตเตอรี่ให้พอเหมาะกับความต้องการใช้จริง หากใส่มากเกินไปจะทำให้ราคารถแพงและประชาชนเข้าไม่ถึง รวมถึงต้องมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าเฉลี่ย 50 กิโลเมตรต่อ 1 สถานีทั่วประเทศ และต้องชาร์จด้วยความเร็วประมาณ 15-20 นาที จากนั้นต้องนำร่องให้มีการใช้รถEVในรถสาธารณะ รถแท็กซี่ และรถยนต์ของราชการก่อน เมื่อมีความต้องการใช้จะส่งผลให้เกิดผู้ผลิตรถ EV ผู้ผลิตแบตเตอรี่ และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถ EV และส่งผลให้การใช้รถEV ครอบคลุมไปถึงรถ E-bike และรถEV ส่วนบุคคลต่อไป และท้ายที่สุดจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางรถ EV ในอาเซียนต่อไปได้

นายยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สมาคมฯ เสนอมาตรการให้รัฐบาลส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 8 ข้อ ได้แก่ 1.การจัดทำแผนที่นำทางเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าแบบบูรณาการ (EV Roadmap) 2.ปรับปรุงข้อกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง 3.ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะให้ประชาชนซื้อรถEVได้ในราคาที่เหมาะสม 4.ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งจักรยานยนต์ไฟฟ้าและสามล้อไฟฟ้า 5.การส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า 6.จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง 7.ให้เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าและ 8. ให้ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า

สำหรับปัจจุบันมียานยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนใหม่( 1 ม.ค.-30 มิ.ย.2563) มีจำนวน 3,076 คัน จากปี 2560 ที่มีจดทะเบียนเพียง 165 คัน ส่วนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะทั่วประเทศอยู่ที่ 557 แห่ง

Advertisment

- Advertisment -.