พิษโควิด-19 ทำยอดใช้ไฟฟ้า6 เดือนปี63 ตก 3.9% ปริมาณสำรองพุ่งเกิน 40% เล็งลดซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าชุมชน เจรจาเลื่อน spp

cof
- Advertisment-

พิษโควิด-19 ทำดีมานด์ไฟฟ้า 6 เดือนแรก  ปี 63 ลดลง 3.9% ส่งผลปริมาณสำรองไฟฟ้าพุ่งเกิน 40% สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมเสนอรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ หาแนวทางแก้ปัญหา โดยหารือผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP)เลื่อนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ พร้อมส่งไฟฟ้าขายต่างประเทศและลดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนลง

ปัญหาโควิด -19 ที่ภาครัฐมีมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ในช่วงที่ผ่านมานั้น ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่มีการใช้ไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูง โดยสนพ.เปิดเผยตัวเลขการใช้ไฟฟ้า 6 เดือนแรกปีนี้ ปรับลดลง 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562  และประเมินว่าทั้งปี 2563 การใช้ไฟฟ้าจะปรับลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ตามการคาดการณ์ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวติดลบ 5-6%  และในกรณีเลวร้ายที่สุดเศรษฐกิจของประเทศอาจติดลบมากถึง 9-10% จะทำให้ยอดใช้ไฟฟ้าปี 2563 ลดลง 3% ซึ่งทำให้มีปัญหาปริมาณไฟฟ้าสำรองในประเทศเหลือล้นระบบ

วัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

นายวัฒนพงษ์  คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยผลิตไฟฟ้าได้ 50,300 เมกะวัตต์ แต่มียอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ในปีนี้อยู่เพียงประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีปริมาณไฟฟ้าเหลือประมาณ 20,000 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 40% ของความต้องการใช้
ดังนั้น สนพ.เตรียมรายงานให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนใหม่ พิจารณา แนวทางปรับแก้ไขแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP)ใหม่ ใน 2 แนวทาง โดย 1.การดึงแผนPDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่1 ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) มาปรับแก้ก่อนนำกลับเข้าเสนอ ครม.ใหม่ หรือ 2.ให้แผนPDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ผ่าน ครม.ไปก่อน แล้วจึงมาแก้ไขในรายละเอียดแทน

- Advertisment -

ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่าควรให้ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ผ่านครม.ไปก่อน เนื่องจากจะส่งผลดีให้เกิดเม็ดเงินลงทุนจาก 3 การไฟฟ้า(การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ,การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA) โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) รวมถึงการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 700 เมกะวัตต์  ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้

อย่างไรก็ตาม โดยปกติแผน PDP มีกำหนดต้องปรับปรุงทุก 3-5 ปี ซึ่งในปี 2564 จะครบกำหนดที่ต้องปรับแผน PDP อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ผ่าน ครม.ได้ ก็จะต้องปรับแผนอีกครั้งเพื่อให้ปริมาณไฟฟ้าประเทศอยู่ในระดับเหมาะสม โดยอาจปรับแผนใหม่เป็น PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 หรือ ปรับใหม่เป็น PDP2020 ก็ได้

เบื้องต้นจะรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ เพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาสำรองไฟฟ้าล้นระบบ โดยปรับลดปริมาณการผลิตไฟฟ้าลง ด้วยการหารือเลื่อนการผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(SPP)ออกไปก่อน และปรับลดโควต้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ลง โดยลดในส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชนกลุ่มทั่วไป 600 เมกะวัตต์ลง ส่วนในกลุ่มเร่งด่วน (Quick win) 100 เมกะวัตต์ให้คงไว้ นอกจากนี้อาจต้องนำไฟฟ้าส่วนเกินไปขายให้ประเทศเพื่อนบ้านแทน แต่ต้องหารือ กฟผ.ด้านโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าที่จะมารองรับด้วย เป็นต้น

Advertisment