พักไว้ก่อน โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ ที่นราธิวาส ส่วนที่ ยะลา ปัตตานี เลื่อนCODเป็นปลายปี 64

- Advertisment-

PEA ENCOM อัพเดทโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขออนุมัติ กกพ. เลื่อน COD ในส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.ยะลา 3 เมกะวัตต์ และจ.ปัตตานี ขนาด 3 เมกะวัตต์ เป็นปลายปี 2564  ส่วนโครงการ ในนราธิวาส ขนาด 6 เมกะวัตต์ ต้องพักโครงการเอาไว้ก่อนเพราะยังติดปัญหาผังเมืองไม่สามารถจัดหาที่ดินเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าได้  

นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM ) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐสำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) ว่า บริษัทฯ ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา  เพื่อขอเลื่อนระยะเวลาการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.ยะลา ขนาด 3 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี ขนาด 3 เมกะวัตต์ ด้วยเหตุผลด้านการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่ และติดปัญหาด้านการขออนุญาตต่างๆ โดยขอเลื่อน COD เป็นปลายปี 2564 แทน จากเดิมกำหนด COD ภายในปี 2563 ที่ผ่านมา

โดยบริษัทฯ ใช้เงินลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวแห่งละ 200 ล้านบาท ขณะนี้ก่อสร้างไปแล้วกว่า 50% คาดว่าจะสร้างเสร็จและผลิตไฟฟ้าเข้าระบบทันปลายปี 2564 แน่นอน

- Advertisment -

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.นราธิวาส ขนาด 6 เมกะวัตต์ จำเป็นต้องพักโครงการไว้ก่อน เนื่องจากไม่สามารถจัดหาที่ดินก่อสร้างได้เพราะติดปัญหาด้านผังเมือง ทำให้ไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) โดยหากภาครัฐมีโครงการอื่นมาทดแทน ก็จะยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.นราธิวาส ดังกล่าวไปเลย

ทั้งนี้โรงไฟฟ้าชีวมวล จ.นราธิวาส วางแผนจะใช้เงินลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท และจะต้อง COD ภายในปี 2563 ที่ผ่านมา และเมื่อดำเนินการไม่ได้ ก็ถือเป็นการเสียโอกาสการลงทุนและโอกาสที่จะเกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ด้วย

 สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ได้ ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2561  โดย ครม. อนุมัติให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม จัดตั้ง หรือร่วมทุนกับบริษัทในเครือ เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าชุมชนจากชีวมวล โดยให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม ลงทุนในสัดส่วน 40% ของส่วนทุน และภาคเอกชน วิสาหกิจชุมชน ลงทุนในสัดส่วน 60% ของส่วนทุน (วิสาหกิจชุมชนสามารถเข้ามาถือหุ้นได้ไม่เกิน 10%)

Advertisment