ชี้แก้ปัญหาขยะเชียงใหม่ ต้องเริ่มกระบวนการคัดแยกอย่างจริงจัง

- Advertisment-

นักวิชาการ เผยเชียงใหม่มีปริมาณขยะมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ แนะจัดการขยะอย่างได้ผลจริง ต้องเริ่มตั้งแต่การคัดแยกขยะทุกกระบวนการ เริ่มต้นที่ครัวเรือน รถขนขยะ และโรงจัดการขยะ พร้อมสร้างกฎสังคมจูงใจให้คนหัดแยกขยะ ชี้ช่วยลดปริมาณขยะ ลดต้นทุนการขนส่ง และมีผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงได้

จังหวัดเชียงใหม่มีแนวโน้มปริมาณขยะสูงขึ้น เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของภาคเหนือ ทำให้มีการใช้สินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น โดยปัจจุบันมีขยะ 1,500 ตันต่อวัน นับเป็นปริมาณขยะมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศที่มีขยะรวมถึง 28 ล้านตันต่อปี แต่โรงคัดแยกขยะของเชียงใหม่ยังมีไม่เพียงพอรองรับกับปริมาณที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต นักวิชาการต่างออกมาให้ความเห็นถึงแนวทางแก้ปัญหาขยะเชียงใหม่อย่างได้ผล ต้องเริ่มจากการคัดแยกขยะทุกกระบวนการ จนนำไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายกลายเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

ผศ.ดร.ปฏิรูป ผลจันทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในงานสัมมนา “โครงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste Side Story)” ซึ่งจัดโดยศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center)ที่ได้รับการสนับสนุนงบจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562 ว่า เชียงใหม่มีปริมาณขยะมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ อยู่ที่ 1,500 ตันต่อวัน แต่มีโรงจัดการขยะเพียง 3 แห่ง คือที่ อ.ฝาง, อ.ดอยสะเก็ด และอ.ฮอด ซึ่งปัจจุบันโรงจัดเก็บที่ อ.ฝาง และ อ.ดอยสะเก็ด ไม่สามารถรองรับปริมาณขณะที่มากขึ้นได้ ดังนั้นจึงต้องขนส่งขยะไป อ.ฮอด ซึ่งทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น

- Advertisment -
ผศ.ดร.ปฏิรูป ผลจันทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ดังนั้นแนวทางจัดการปัญหาขยะอย่างได้ผล ควรมีการคัดแยกขยะทุกกระบวนการ ทั้งภาคครัวเรือน รถขนส่งขยะ และโรงคัดแยกขยะ เป็นต้น และโรงจัดการขยะควรมีหลายพื้นที่กระจายอย่างทั่วถึง เนื่องจาก 3 แห่งที่มีในเชียงใหม่ถือว่ายังมีไม่เพียงพอ ส่วนการสร้างโรงไฟฟ้าขยะนั้น ปัจจุบันมีเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เหมาะสมกับขยะเมืองไทย ดังนั้นควรหาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าขยะที่เหมาะกับชนิดขยะของไทยจึงจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ เห็นว่าการจะให้ประชาชนคัดแยกขยะได้สำเร็จจำเป็นต้องใช้ระบบการให้คุณให้โทษ เช่น ชุมชนใดที่ทิ้งขยะโดยไม่คัดแยกจะต้องเสียค่าจัดการขยะที่สูงกว่าผู้ที่คัดแยก รวมทั้งพื้นที่ใดที่เสียสละให้สร้างโรงไฟฟ้าจะต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เช่น การใช้ไฟฟ้าราคาถูกมาก เป็นต้น

นายกิตติพงษ์​ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาขยะเกิดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาด้วยการบริหารจัดการขยะให้กลายเป็นเชื้อเพลิง เพื่อให้ขยะมีมูลค่ามากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาขยะแล้วยังช่วยสร้างความมั่นคงไฟฟ้าให้กับประเทศด้วย

นายกิตติพงษ์​ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)

นายพร้อมพงษ์ วงศ์มณีนิล ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 1 (เชียงใหม่) กล่าวว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีปริมาณขยะสูงถึง 28 ล้านตัน และคาดว่าในปีต่อไปอาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาสังคมในขณะนี้ ดังนั้นรัฐบาลจึงมีนโยบายบริหารจัดการขยะโดยการนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ โดยจัดแบ่งการบริหารจัดการแบบคลัสเตอร์ ทั้งการแบ่งตามระดับจังหวัด การแบ่งตามศักยภาพพื้นที่ และการสร้างโรงไฟฟ้าจะตามมาทีหลัง

นายพร้อมพงษ์ วงศ์มณีนิล ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 1 (เชียงใหม่)

นายวัชรพงศ์ ทองรุ่ง บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) กล่าวยกตัวอย่างประสบการณ์จากการจัดการขยะที่เมืองบิลเบา ประเทศสเปน ซึ่งมีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ Zabalgarbi Waste-to-Energy ว่า สามารถแก้ปัญหาขยะล้นเมืองอย่างได้ผล เพราะมีการบริหารจัดการขยะที่ถูกต้องและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

นายวัชรพงศ์ ทองรุ่ง บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC)

โดยจัดวางถังเก็บขยะ 7 ใบ 7 สีแยกตามประเภทเอาไว้ใกล้ ๆ กับชุมชน ขยะที่ถูกจัดแบ่งเป็น 7 ประเภท ประกอบด้วย 1.ขยะอินทรีย์ 2.ขยะพลาสติก 3.กระดาษ 4.แก้ว 5.เสื้อผ้า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 6.น้ำมันจากครัวเรือน และ 7.ขยะทั่วไป โดยแยกนำส่วนที่ยังใช้ประโยชน์ได้ เช่น โลหะ พลาสติก กลับไปรีไซเคิล และส่วนที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ก็นำมาเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ส่งกระแสไฟฟ้าป้อนกลับไปใช้ในเมือง ส่วนขี้เถ้าที่เหลือจากกระบวนการผลิตก็นำไปผสมทำถนน ทั้งนี้ ยังมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับประชาชนในการคัดแยกขยะ ด้วยโทษปรับตั้งแต่เบาไปหาหนัก (เริ่มตั้งแต่ไม่กี่ยูโรไปจนเสียค่าปรับสูง ๆ ถึง 1,000 ยูโร)

ด้าน นายประยุทธ์ ถนอมบุญ วิศวกรโครงการศูนย์กำจัดมูลฝอยแบบผสมผสานบ้านตาล ต.บ้านตาล อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่าศูนย์กำจัดมูลฝอยฯแห่งนี้ เป็นพื้นที่รับจัดการขยะแบบฝังกลบที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ มีพื้นที่รับขยะถึง 2,000 ไร่ ปัจจุบันรับขยะอยู่ 700 ตันต่อวัน และสามารถนำก๊าซที่เกิดจากขยะฝังกลบมาผลิตเป็นก๊าชชีวภาพสำหรับนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าและเป็นก๊าซหุงต้ม(LPG) โดยปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 2 เมกะวัตต์ ส่วนก๊าซ LPG ได้ส่งผ่านทางท่อให้กับชาวบ้านรอบศูนย์กำจัดมูลฝอยฯ ได้ใช้ฟรี

นายประยุทธ์ ถนอมบุญ วิศวกรโครงการศูนย์กำจัดมูลฝอยแบบผสมผสานบ้านตาล ต.บ้านตาล อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

อย่างไรก็ตาม เชียงใหม่มีต้นทุนจากกระบวนการจัดการขยะสูง เนื่องจากปัจจุบันมีการขนส่งขยะระยะไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่มายัง อ.ฮอด ซึ่งเสียค่าขนส่งถึง 200 บาทต่อตัน รวมกับค่าจัดการขยะอีก 700-800 บาทต่อตัน ทำให้ต้นทุนค่าจัดการขยะสูงขึ้น

ดังนั้น เห็นว่าการจัดการปัญหาขยะอย่างได้ผล ต้องเริ่มตั้งแต่การคัดแยกขยะจากครัวเรือน ขยะที่รีไซเคิลได้จะถูกแยกไปใช้ประโยชน์ต่อไป ส่วนขยะที่เหมาะสมเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจะถูกส่งมายังโรงไฟฟ้าได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้กำจัดขยะได้รวดเร็ว ลดต้นทุนค่าขนส่ง และทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลงได้

Advertisment

- Advertisment -.