PEA จับมือ ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการ พัฒนาพลังงานเพื่อความยั่งยืน

- Advertisment-

PEA จับมือ ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการครั้งสำคัญเพื่อพัฒนาอนาคตพลังงานที่ยั่งยืน โดยมีกรอบระยะเวลา 2 ปี สำหรับการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีไฟฟ้าที่ทันสมัย ตอบโจทย์ PEA ที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนองค์กรสู่ “Digital Utility” ด้วยพลังงานสะอาด

วันนี้ (7 มี.ค. 2566) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงาน ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นในอนาคต ดังนั้นเพื่อให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและตอบโจทย์ด้านพลังงานสะอาดของประเทศ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จึงได้จับมือกับ บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อร่วมมือกันด้านวิชาการครั้งสำคัญ โดยมีนายภิญโญ ทองเจิม รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และดร. วรวุฒิ วรุตตมพรสุ Country Managing Director บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามใน “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อพัฒนาอนาคตพลังงานที่ยั่งยืน” ณ อาคาร LED การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่

นายภิญโญ ทองเจิม รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) (ซ้าย) และ ดร. วรวุฒิ วรุตตมพรสุ Country Managing Director บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด (ขวา)

ดร. วรวุฒิ วรุตตมพรสุ Country Managing Director บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือด้านวิชาการดังกล่าวครอบคลุมระยะเวลา 2 ปี สำหรับการถ่ายทอดความรู้ ความชำนาญและเทคโนโลยีสมัยใหม่จากบุคลากรทั้งสองฝ่าย เนื่องจาก PEA เป็นหน่วยงานด้านพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญของประเทศและที่มียุทธศาสตร์เปลี่ยนองค์กรสู่  “Digital Utility” ที่จะพัฒนาองค์กรให้เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ เป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีพลังงาน ดังนั้น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และถ่ายทอดความรู้ระหว่างสององค์กร จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในวงกว้างต่อไป 

- Advertisment -

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้จะออกมาในรูปแบบการอบรมสัมมนา ศึกษาดูงานในสถานที่จริง การให้ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อให้มองเห็นภาพรวมของการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานร่วมกันและฮิตาชิก็พร้อมต่อยอดเทคโยโลยีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาระบบไฟฟ้าที่ทันสมัยของ PEA ในอนาคต  โดยการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางพลังงาน (Energy Transition) ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality ) ไมโครกริด (Microgrid) ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS) การขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (E-Mobility) ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และอนาคตทางพลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy Future) เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ในระยะยาว ผ่านการถ่ายทอดความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อรองรับเทคโนโลยีพลังงานในปัจจุบันและอนาคต

“มีการคาดการณ์ว่าโลกในอีก 30 ปีข้างหน้า จะมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากปัจจุบัน เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพลังงาน ทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เช่น การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การใช้อุปกรณ์พลังงานในชีวิตประจำวันที่ทันสมัยมากขึ้น รวมถึงการใช้พลังงานไฮโดรเจน (ซึ่งเป็นการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า ทำให้เกิดไฮโดรเจนขึ้น) เป็นการตอบโจทย์พลังงานสะอาดของโลก ซึ่งล้วนต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นทั้งสิ้น  ดังนั้นหากมีการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ส่งผ่านพลังงานไฟฟ้า จะทำให้เกิดการประหยัดพื้นที่และจ่ายไฟฟ้าได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย”  ดร. วรวุฒิ กล่าว

นายภิญโญ ทองเจิม รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้เพื่อรองรับด้านเทคโนโลยียุคดิจิทัล และยุทธศาสตร์ของ PEA ที่มุ่งเน้นด้านพลังงานสะอาดตามนโยบายรัฐบาลและทิศทางโลก แต่เนื่องจากเทคโนโลยีด้านพลังงานเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น PEA จะต้องพัฒนาบุคลากรให้ก้าวทันเทคโนโลยี จึงต้องร่วมมือกับบริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี ในการพัฒนาบุคลากร

“PEA จะคัดสรรบุคลากรด้านสายส่ง ระบบจำหน่าย และการควบคุมสถานีไฟฟ้า เป็นต้น มารับการอบรมเพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยี และเพื่อให้เกิดการบริหารสินทรัพย์ขององค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป รองผู้ว่าการการ PEA กล่าว  

สำหรับยุทธศาสตร์ขององค์กรที่จะเปลี่ยนไปสู่ Digital Utility  ที่สำคัญ  ได้แก่ การพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าและแอปพลิเคชัน ของ PEA โดยมีเป้าหมายทยอยติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า “PEA VOLTA” รวมให้ได้ 1,071 สถานี และมี 2,169 หัวชาร์จ ภายในปี 2574 ครอบคลุม 75 จังหวัด ตามถนนเส้นทางหลักและเส้นรอง รวมถึงทุกสำนักการไฟฟ้า สถานที่ราชการ Community mall แหล่งท่องเที่ยว และจุดการค้าชายแดน  โดยในปี 2566 มีสถานีอัดประจุไฟฟ้ารวม 354 สถานี โดยมีเครื่องอัดประจุรวม 413 หัวชาร์จ 

นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์ม “PEA  VOLTA Platform” มาพร้อมกับระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จ PEA VOLTA โดยมีการพัฒนาแพลตฟอร์มให้รองรับการเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการเครือข่ายสถานีชาร์จรายอื่น เพื่อให้ผู้ใช้ EV ที่มีแอปพลิเคชันสำหรับชาร์จ EV อยู่แล้ว สามารถใช้บริการสถานีชาร์จของ PEA VOLTA และสามารถใช้แอปพลิเคชัน PEA VOLTA ชาร์จรถกับสถานีชาร์จค่ายอื่นได้โดยไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดหลายแอปพลิเคชัน

อย่างไรก็ตาม PEA ยังตอบโจทย์พลังงานสะอาดมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยในปี 2566 ตั้งเป้าจะดำเนินการประเมิน Carbon Footprint และจัดทำ Carbon Neutrality Roadmap พร้อมดำเนินการตามแผนและขยายผลสู่ Green Financing รวมถึงลดก๊าซเรือนกระจกมกกว่า 20% ของ Carbon Footprint Baseline

ส่วนปี พ.ศ. 2570 จะดำเนินการได้ตาม  Carbon Neutrality Roadmap และลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 35% ของ Carbon Footprint Baseline และในปี พ.ศ. 2580 จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน  และขยายผลเข้าสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนทั้งภายในและภายนอกองค์กร

ซึ่งสอดคล้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ที่กำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ 40% (Nationally Determined Contribution : NDC) ภายในปี พ.ศ. 2573 และในปี พ.ศ.2593 บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality จนไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission)ในปีพ.ศ. 2608

Advertisment