- Advertisment-

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงวิกฤติโลก ทั้งราคาพลังงานที่สูงขึ้น เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่เต็มที่ และการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เตรียมหันมาผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของรถ EV รองรับตลาดรถไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต                                                                                         

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC  เปิดเผยว่า IRPC พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงวิกฤติของโลกที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งด้านต้นทุนราคาพลังงานที่สูงขึ้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่เต็มที่หลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระบบการขนส่งยังไม่กลับคืนสู่ภาวะปกติ และปัญหาซัพพลายเชนที่ขาดแคลน ซึ่งมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ไวรัสโควิด-19 การแบ่งขั้วทางการเมืองใหม่ของโลก และการสู้รบของรัสเซียกับยูเครน

ทั้งนี้ ยอมรับว่าราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ทาง IRPC จำเป็นต้องปรับราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขึ้นด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาต้องแบกรับภาระต้นทุนมาโดยตลอด เนื่องจากปรับราคาได้ไม่เต็มที่เพราะลูกค้ายังไม่สามารถรับราคาที่สูงตามต้นทุนได้ ดังนั้น IRPC จึงปรับราคาขึ้นเพียงเล็กน้อยไม่ถึงระดับ 5-10% ของราคาเดิม ซึ่ง IRPC ได้ทำความเข้าใจกับลูกค้าและตลาดมาได้ระยะหนึ่งแล้วว่า ราคาผลิตภัณฑ์จะต้องทรงตัวระดับนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง และขณะนี้ตลาดเริ่มยอมรับราคาใหม่ที่เกิดขึ้นได้แล้ว โดยคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 2 ของปี 2565 จะปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับเกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากไตรมาสแรกของปี 2565 ที่อยู่ในระดับ 95 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม IRPC คาดว่าในไตรมาส 2 ปริมาณการขายปิโตรเคมีของ IRPC จะทรงตัว ขณะที่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ (Spread) ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากประเทศจีนคลายล็อคดาวน์จากปัญหาโควิด-19 จะทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันจีนก็จะขยายกำลังการผลิตโพลิเมอร์ขึ้น  ซึ่งจะกดดันตลาดผู้ผลิตเม็ดพลาสติกในภูมิภาคอาเซียนด้วย ดังนั้น IRPC จึงจะหันไปขายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) มากขึ้น ประกอบกับกลุ่ม ปตท. มีความร่วมมือกับหลายบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ IRPC จำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดพิเศษสำหรับเป็นส่วนประกอบรถ EV ในอนาคตได้อีกด้วย     

โดยปัจจุบันเทรนด์พลังงานสะอาดเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกต่างกำลังให้ความสนใจ โดยเฉพาะรถ EV ที่เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิต EV และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve ภายใต้แผนการลงทุน EEC  เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์กักเก็บพลังงานสำรอง ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว ของ IRPC

ดังนั้น IRPC จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีหลายโครงการ ได้แก่

1. โครงการ Acetylene Black for Li-ion Battery วัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ (Li-ion battery) สำหรับรองรับเทรนด์ EV โดยเพิ่มคุณสมบัติให้มีความพิเศษมากขึ้นในเรื่องความบริสุทธิ์และการนำไฟฟ้าสูง ช่วยลดเวลาการอัดประจุไฟฟ้า กำลังการผลิต 1.2 KTA รวมถึงอุปกรณ์เก็บพลังงานสำรอง (Energy Storage) คาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในต้นปี 2570   

2. โครงการขยายกำลังการผลิต ABS โดยใช้ Agglomeration Technologyกำลังการผลิต 9.8 KTA เน้นตลาดกลุ่ม EV, charging station, drone, รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า  โครงการนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับ IRPC ในส่วนของการผลิต ABS Powder จากการใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนการผลิต  คาดว่าจะพร้อมดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปลายปี 2568

3. IRPC วางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) จาก 24% ในปี 2565  เป็น 52% ในปี 2568 และอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่อันเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนารถยนต์ EV เช่น Battery Separator และ Li-ion Anode รวมถึงได้ร่วมทุนกับบริษัท เจแปน โพลิโพรพิลีนคอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ JPP โดยถือหุ้นในสัดส่วน 50% ของบริษัท ไมเท็กซ์ โพลิเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (Mytex Polymers (Thailand) Co. Ltd) รุกตลาดเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ (Polypropylene Compound: PP Compound) ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ IRPC ยังได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษา โดย วิทยาลัยเทคโนโลยี ไออาร์พีซี หรือ IRPCT ร่วมกับบริษัท อรุณพลัส จำกัด หรือ ARUN PLUS พัฒนาหลักสูตรและสนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน EV เพื่อให้นักศึกษาที่สนใจได้มีโอกาสเข้าฝึกงานในบริษัทด้าน EV ของ กลุ่ม ปตท. ที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แล้วในปัจจุบัน เช่น on-ion EV Charging Station หรือ Swap & Go สถานีบริการเปลี่ยนสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์แบบไม่ต้องรอชาร์จ รวมถึงโรงงานผลิต EV ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง ARUN PLUS และ Foxconn

Advertisment

- Advertisment -.