เข้าฤดูฝน แต่ยอดใช้ไฟฟ้ายังเกิน 3 หมื่นเมกะวัตต์ สำนักงาน กกพ. ย้ำความมั่นคงไฟฟ้าของไทยสูงลิ่ว

- Advertisment-

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ชี้ยอดใช้ไฟฟ้ายังสูงเกิน 3 หมื่นเมกะวัตต์ แม้เข้าสู่ฤดูฝน เหตุอากาศร้อนอบอ้าวจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ยืนยันไทยมีความมั่นคงไฟฟ้าสูงสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศได้ ชี้ไทยผ่านพ้นวิกฤติเชื้อเพลิงไปแล้ว และทุกโรงไฟฟ้ากลับมาใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้าได้ตามปกติ เชื่อค่าไฟปลายปี 2566 ลดลงแน่นอน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า แม้ในเดือน มิ.ย. 2566 ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่เนื่องจากในปีนี้ไทยยังต้องเผชิญกับสถานการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้สภาพอากาศร้อนจัดและฝนตกน้อย ทำให้การใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รายงานสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยรายวัน ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยพบว่าในเดือน มิ.ย. 2566 นี้ ยอดการใช้ไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. , การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. )ยังทรงตัวระดับสูงเกินกว่า 3 หมื่นเมกะวัตต์ ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา

โดยไล่เลียงยอดการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ต้นปี 2566 พบว่ามีเพียงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ เท่านั้นที่ยอดการใช้ไฟฟ้ายังไม่เกิน 3 หมื่นเมกะวัตต์ หลังจากนั้นยอดการใช้ไฟฟ้าไต่ระดับสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องดังนี้

- Advertisment -

เดือนมกราคม ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 26,517.4 เมกะวัตต์

เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 28,345.3 เมกะวัตต์

เดือนมีนาคม อยู่ที่ 31,054.6 เมกะวัตต์

เดือนเมษายน อยู่ที่ 33,622.5 เมกะวัตต์

เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 34,826.5 เมกะวัตต์ (ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย)

เดือนมิถุนายน อยู่ที่ 31,830.2 เมกะวัตต์

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า ยอดการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นในปี 2566 นี้ เป็นไปตามสภาพอากาศที่ไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์เอลนีโญ แต่อย่างไรก็ตามสำนักงาน กกพ.ยืนยันว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งไทยยังมีความมั่นคงด้านไฟฟ้าสูงและมีไฟฟ้าเพียงพอรองรับความต้องการใช้ของประชาชนอย่างแน่นอน แต่หากประชาชนไม่ใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดก็จะส่งผลกระทบให้ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น รวมทั้งยอดการใช้ไฟฟ้าที่สูงกว่าปกติก็จะทำให้ต้องนำเข้าเชื้อเพลิงมากขึ้นและทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงขึ้นได้  

อย่างไรก็ตามยืนยันว่าในด้านการผลิตไฟฟ้านั้น ปัจจุบันไทยได้ผ่านพ้นวิกฤติด้านเชื้อเพลิงพลังงานไปตั้งแต่ปลายปี 2565 แล้ว เนื่องจากปัจจุบันคลังเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ไทยมีเพิ่มขึ้น จึงสามารถนำเข้า LNG มาเก็บสำรองได้มากขึ้น ประกอบกับปัจจุบันราคา LNG ตลาดโลกเริ่มถูกลงเหลือเพียง 8-10 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งต่ำกว่าปี 2565 ที่ราคาพุ่งเกิน 30 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู

นอกจากนี้ กกพ.ได้สั่งให้โรงไฟฟ้าที่เคยสลับมาใช้ดีเซลแทนก๊าซธรรมชาติในช่วงวิกฤติราคาพลังงานที่ผ่านมา ให้กลับไปใช้ก๊าซฯ ได้เหมือนเดิมแล้ว เพราะมีราคาถูกกว่าดีเซล ดังนั้นบางโรงไฟฟ้าที่สำรองดีเซลไว้ล่วงหน้าและถูกสั่งให้กลับมาใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้าเหมือนเดิม จึงเกิดสำรองดีเซลจำนวนมาก ซึ่ง กกพ.กับโรงไฟฟ้าจะหารือเพื่อบริหารจัดการดีเซลดังกล่าวต่อไป

ดังนั้นในส่วนของค่าไฟฟ้างวดปลายปี 2566 หรือในเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 จึงมีแนวโน้มจะลดลงได้ประมาณ 30-50 สตางค์ต่อหน่วย แต่หากแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทและราคาก๊าซฯในอ่าวไทยมีแนวโน้มที่ดี ก็จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปรับลดลงได้มากขึ้นอีกด้วย  

Advertisment