GIZ เปิดผลวิเคราะห์ผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน สร้างความเปราะบางให้ระบบพลังงานของไทย

- Advertisment-

องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) เปิดรายงาน “No more fuel to the fire: from energy crisis to transition in Southeast Asia” ซึ่งองค์กรภาคีภายใต้โครงการพลังงานสะอาด ปลอดภัยและเข้าถึงได้ (CASE) ได้ศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบจากวิกฤตพลังงานโลกอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามระหว่างประเทศรัสเซีย-ยูเครนต่อประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม

โดย CASE พบว่า วิกฤตพลังงานโลกทำให้ระบบพลังงานในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปราะบางลง และรัฐจะต้องเร่งผลักดันทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ โดยจะต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคพลังงานทั้งอุปสงค์และอุปทาน

ตั้งแต่วิกฤตราคาเชื้อเพลิงช่วงต้นปีพ.ศ. 2563 ราคาของถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราสูงที่สุดตั้งแต่วิกฤตน้ำมันเมื่อปี พ.ศ. 2516 โดยราคายิ่งพุ่งสูงหลังเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างชัดเจน เพราะไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับวิกฤตพลังงานเนื่องจากเศรษฐกิจยังเพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 ทั้งการจ้างงานในภาคพลังงานหมุนเวียนก็หยุดนิ่งและลงทุนในแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Green Recovery) เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

- Advertisment -

โครงการ CASE ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากวิกฤตพลังงานโลกในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม พร้อมทั้งยังได้ประเมินนโยบายรับมือสถานการณ์ดังกล่าวของรัฐบาลต่างๆ และความหมายในแง่แผนพลังงานระยะยาวของแต่ละประเทศ

สวิทิน ลู่ว จาก NewClimate Institute หนึ่งในคณะผู้เขียนเปิดเผยว่า
“ประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตค่อนข้างน้อย แต่ก็เปราะบางกับผลกระทบที่อาจเกิดตามมาในอนาคตเนื่องจากประเทศดังกล่าวยังต้องนำเข้าถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ และต่างยังต้องพึ่งพาทรัพยากรน้ำมันจากต่างประเทศ มันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากเรารับมือกับวิกฤตดังกล่าวด้วยการผลักดันให้มีการรับมือกับวิกฤตความมั่นคงทางพลังงานด้วยการส่งเสริมแหล่งพลังงานหมุนเวียนและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานแทนการกลับไปพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล”

อย่างไรก็ดีผลการศึกษายังพบอีกว่า ทั้ง 4 ประเทศตั้งรับกับความปั่นป่วนของตลาดพลังงานด้วยมาตรการระยะสั้นเป็นหลัก โดยมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาผลกระทบทางสวัสดิภาพสังคม รวมถึงใช้นโยบายกระตุ้นการผลิตและความต้องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แม้รัฐบาลส่วนใหญ่ได้เริ่มประกาศมาตรการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2565 แต่ก็ยังมีอีกหลายมาตรการที่สามารถทำได้เพื่อจัดการความต้องการใช้พลังงานที่เติบโตและลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลรวมถึงเตรียมความพร้อมให้กับประเทศเพื่อรองรับกับผลกระทบในอนาคต

แม้รัฐบาลในแต่ละประเทศจะมีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน แต่ความท้าทายที่ทุกประเทศต้องเจอคือการจัดลำดับความสำคัญของภาคปฏิบัติในระยะกลางเพื่อรับมือกับวิกฤตเชื้อเพลิงฟอสซิล

เอิร์นส์ คูนแมน จาก Agora Energie-wende ให้ความเห็นว่า “วิกฤตพลังงานในครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำความเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลักดันให้มีการรับมืออย่างยั่งยืนและตั้งคำถามกับบทบาทของก๊าซธรรมชาติในฐานะเชื้อเพลิงเพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของภูมิภาค ด้วยราคาและตลาดที่ผันผวนมากทำให้ก๊าซธรรมชาติไม่สามารถเป็นยุทธศาสตร์ที่มั่นคงได้ ทุกประเทศสามารถสร้างความยืดหยุ่น (Resilience) ของตัวเองให้ดีขึ้นได้ด้วยการจัดการกับเรื่องนี้ให้สอดคล้องกับแผนระยะยาว”

เราได้เห็นสัญญาณผลกระทบจากวิกฤตพลังงานที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของคนไทย ตามที่ระบุในรายงานพบว่า ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวปรับตัวพุ่งสูงขึ้นเป็นสามเท่าในเดือนมิถุนายนปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อไม่นานมานี้ก็จะเห็นข่าวที่ทางภาครัฐเล็งคุมเวลาปิดปั๊มน้ำมัน-ร้านสะดวกซื้อเพื่อประหยัดพลังงานและบรรเทาผลกระทบเนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น

“ประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติราวร้อยละ 50 ของการผลิตไฟฟ้า เมื่อราคาของก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ค่าไฟจึงแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวรัฐบาลไทยได้ใช้มาตรการระยะสั้นทุกทาง กระทั่งกลับไปพึ่งพาการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าทั้งที่ตั้งเป้าว่าจะปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินออก” ดร.สิริภา จุลกาญจน์ นักวิจัยภายใต้โครงการ CASE และหนึ่งในคณะผู้เขียนจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว “แต่นี่ไม่ใช่สัญญาณที่ดีเท่าใดนัก หากเราต้องการจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) เราจะต้องหาวิธีการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างยุติธรรม (Just transition) เพื่อลดความเสี่ยงทางความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ”

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 ในเวที COP26 วิกฤตพลังงานโลกที่มีแนวโน้มดำเนินต่อไปจากสงครามระหว่างประเทศรัสเซีย-ยูเครนที่ไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อใดจึงเป็นโอกาสและอาจเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญของรัฐบาลไทยที่จะต้องปรับการวางแผนพลังงานระยะยาวให้มีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับวิกฤตพลังงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตพร้อมทั้งสามารถบรรลุคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ในเวทีโลกได้

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ ที่นี่

Advertisment

- Advertisment -.