GC ลุ้น อย.อนุญาตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารในไตรมาสแรกปี 2566 ดันโรงงาน ENVICCO เพิ่มกำลังผลิต รายได้พุ่งหลักพันล้าน

- Advertisment-

โรงงาน ENVICCO ในกลุ่ม บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ GC คาดปี 2566 รายได้จากการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลพุ่งหลักพันล้าน กำลังการผลิตแตะ 60-80% หาก อย. ให้ใบอนุญาตรองรับความปลอดภัยใช้งานขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ภายในไตรมาสแรกปี 2566 แนะรัฐออกนโยบายกระตุ้นการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลเพิ่ม  ช่วยขยายเครือข่ายชุมชนคัดแยกขยะทั่วประเทศ เสริมรายได้ รักษาสิ่งแวดล้อม 

วันที่ 16 ธ.ค. 2565 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ GC ได้พาสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงงานENVICCO ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับ Food Grade ที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (U.S. Food and Drug Administration : US FDA) แห่งแรกในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง หลังจากโรงงานได้เปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2565 

โดยโรงงานมีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสูงถึง 45,000 ตันต่อปี แบ่งเป็นเม็ดพลาสติก ชนิด rPET จำนวน30,000 ตันต่อปี และ เม็ดพลาสติก ชนิด rHDPE จำนวน 15,000 ตันต่อปี โดยใช้วัตถุดิบทั้งหมด 100% เป็นพลาสติกใช้แล้วในประเทศ ผ่านเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัย เพื่อคืนคุณค่าให้กับพลาสติกใช้แล้วให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าอีกครั้ง โดยมีคุณสมบัติเทียบเท่าพลาสติกใหม่

- Advertisment -

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท ENVICCO อยู่ระหว่างรอการอนุมัติใบอนุญาตจากองค์การอาหารและยา(อย.) สำหรับรองรับมาตรฐานความปลอดภัยการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET และ rHDPE เพื่อขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม โดยคาดว่าจะได้รับการอนุมัติช่วงไตรมาส 1 ของปี 2566 ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯสามารถใช้กำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 60-80% จากปัจจุบันที่ใช้กำลังการผลิตได้ 40% และส่งผลให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนเพิ่มขึ้น 

“โรงงานพลาสติกรีไซเคิลปี 2566 จะทำให้ครบวงจรมากขึ้น ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมสร้างนิสัยคัดแยกขยะ เพื่อช่วยเหลือเรื่องของสิ่งแวดล้อมและยังช่วยสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชน ซึ่งจะเป็นการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน”

นายณัฐนันท์ ศิริรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด ยอมรับว่า พลาสติกรีไซเคิลจะมีต้นทุนสูงกว่าพลาสติกทั่วไป 20-30% แต่ลูกค้าน่าจะบริหารจัดการต้นทุนโดยการจัดสรรงบประมาณและงบด้านกิจการเพื่อสังคม (CSR) มาร่วมในการผลิต เพราะหากเทียบกับการที่ผู้ประกอบการโดนตั้งกำแพงภาษีจากยุโรปที่กำหนดให้ผู้ส่งออกสินค้าไปยุโรปต้องใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนผสมเพื่อลดภาวะโลกร้อน ซึ่งจะมีอัตราเสียภาษีประมาณ 800 ยูโรต่อตัน ที่จะบังคับใช้ปี 2566 ดังนั้นการใช้พลาสติกรีไซเคิลจะคุ้มค่ากว่าการถูกเรียกเก็บภาษี  

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้เจรจาหาลูกค้ารองรับการใช้พลาสติกรีไซเคิลได้เพิ่มขึ้นกว่า 10 รายแล้ว เพื่อรองรับกำลังการผลิตพลาสติกรีไซเคิลที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2566 หลังจากได้รับมาตรฐานความปลอดภัยจาก อย.

“ปัจจุบันโรงงานนี้มีการผลิตเพื่อส่งออกเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 70% และจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการในประเทศประมาณ 30% มีรายได้หลักร้อยล้านบาท คาดว่าเมื่อได้ อย.แล้ว ปีหน้าจะส่งผลให้รายได้เติบโตขึ้นทะลุพันล้านบาทจากการเพิ่มกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ประกอบกับมาตรการของยุโรปที่เตรียมตั้งกำแพงภาษีให้ผู้ส่งออกจะต้องขายสินค้ามีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิล เพื่อลดภาวะโลกร้อน”

อย่างไรก็ตามหากจะส่งเสริมการใช้พลาสติกรีไซเคิลในประเทศไทยให้หลากหลายมากขึ้น ภาครัฐควรออกมาตรการทางด้านภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนผสมในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มโดยกำหนดรูปแบบที่เหมาะสม และจูงใจการคัดแยกขยะรีไซเคิลให้มีมาตรฐาน รวมถึงการให้ความรู้ในการแยกขยะอย่างถูกต้องเพื่อสร้างรากฐานที่ยั่งยืนในประเทศ  

ทั้งนี้ ENVICCO ดำเนินการภายใต้ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด (ENVICCO Limited) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง GC และALPLA ผู้นำระดับโลกในธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก และพลาสติกรีไซเคิล โดยทั้ง 2  บริษัท มีความตั้งใจร่วมกันที่จะรักษาคุณค่าของพลาสติกไว้ให้มากที่สุด โดยการดำเนินการของ ENVICCO จะช่วยลดขยะพลาสติกในประเทศไทยได้ถึง 60,000 ตันต่อปี ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เทียบเท่ากับการปลูกป่าประมาณ 78,000 ไร่ หรือ ปลูกต้นไม้ใหญ่กว่า 8.32 ล้านต้น 

โดยโรงงานนี้ถือเป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทฯ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่จะทำให้ห่วงโซ่คุณค่า(Value Chain) ครบสมบูรณ์ และยังช่วยให้เกิดการสร้างงานในชุมชน ตอบโจทย์ BCG Model(Bio-Circular-Green Economy Model) ของประเทศไทยอีกด้วย

Advertisment

- Advertisment -.