ENC รีวิว 5 นโยบายเด่นพลังงาน ปี 64 ปีแจ้งเกิด LNG ลม ขยะ โรงไฟฟ้าชุมชน

- Advertisment-

5 นโยบายด้านพลังงานของปี 64 ที่ถือว่าโดดเด่นและมีอิมแพคต่อทั้งผู้ลงทุนและผู้บริโภคในมุมมองของศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy​ News​ Center-ENC​)​ นั้นมีเรื่องไหนบ้าง ไปติดตามอ่านกัน

1.เปิดเสรีก๊าซฯระยะ 2 ยังไม่เวิร์ค เอกชนเมินนำเข้า ประชาชนรับภาระค่าไฟ

ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 กระทรวงพลังงานพยายามเดินหน้านโยบายเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการเปิดให้เอกชนทดลองนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ก่อนจะก้าวไปสู่ระยะที่ 3 คือการเปิดเสรีก๊าซฯ เต็มรูปแบบในอนาคต แต่สถานการณ์ราคาSpot LNG ช่วงปลายปี 2564 กลับไม่เป็นใจ ขยับขึ้นสูงตามราคาน้ำมันและพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 57 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ในเดือน ต.ค. 2564 ซึ่งสูงกว่าเดือน ส.ค. 2564 ที่ราคาอยู่ในระดับ 13-15 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ในขณะที่ราคาส่งมอบเดือน ม.ค.-ก.พ.65 ก็ยังอยู่ที่ระดับ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แตกต่างกันลิบลิ่วกับราคาSpot LNG ที่ปตท.จัดหาได้ราคาต่ำสุดเมื่อเดือน ก.ค. 63 ที่ 1.78 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

- Advertisment -

ดังนั้นนโยบายการเปิดเสรีของกระทรวงพลังงาน ที่ กพช.เห็นชอบในหลักการเมื่อเดือน เม.ย. 2564 และเห็นชอบหลักเกณฑ์การนำเข้าเมื่อ ส.ค.64 จึงแป๊กไม่เป็นท่า เพราะไม่มีShipper เอกชนรายใดสนใจนำเข้า LNG ตามโควต้า 4.8 แสนตันที่กระทรวงพลังงานเปิดไว้เป็นการนำร่องให้แม้แต่รายเดียว และเชื่อว่าในปี 65 ที่มีโควต้าให้นำเข้ามาได้อีก 1.74 ล้านตัน ก็จะไม่มี เอกชนรายใดนำเข้ามาอีกเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตการเป็นผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่ มารับหน้าที่นำเข้า LNG สำหรับผลิตไฟฟ้าแทน พร้อมงัดกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 57 เกี่ยวกับความมั่นคงด้านพลังงาน เปิดทางให้บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) นำเข้า LNG มาแทน โดยขยายโควต้า ปี 64 จาก 4.8 แสนตัน เป็น 6 แสนตัน ส่วนในปี 2565 ก็สั่งให้ กฟผ.และ ปตท.นำเข้ามาในรูปของสัญญาระยะกลางและระยะยาวแทนการนำเข้าแบบSpotซึ่งต้นทุนLNGที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นจะถูกผลักภาระไปให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าช่วยกันรับ

กกพ.ออกมายอมรับว่า งานนี้ยอมให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นดีกว่าปล่อยให้ก๊าซขาดแคลนแล้วไฟฟ้าดับที่จะส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ​มากกว่า แต่ประชาชนผู้ใช้ไฟก็บ่นให้ทีมข่าว ENC ได้ยินว่า รัฐน่าจะบริหารจัดการนโยบายก๊าซได้ดีกว่านี้ แทนที่จะจับประชาชนผู้ใช้ไฟเป็นตัวประกัน

2.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ถังแตก ติดลบครั้งแรกรอบ 9 ปี

ในปี 2564 นี้ ยังนับเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับภาคพลังงาน เมื่อราคาน้ำมันโลกผันผวน ราคาพุ่งขึ้นสูงแบบรวดเร็วต่อเนื่อง จนส่งผลให้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีเงินสะสมเอาไว้หลายหมื่นล้าน ต้องกระเป๋าฉีก เงินไหลออกไม่หยุดเพื่อเอาไปอุ้มราคาดีเซลไม่ให้ทะลุเพดาน 30 บาทต่อลิตร และอุ้มก๊าซหุงต้มถังขนาด15 กก.ไม่ให้ราคาเกิน 318 บาท ประสบชะตากรรมทางการเงิน ฐานะติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี โดยฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2564 นั้นติดลบในภาพรวมไปแล้ว 3,072 ล้านบาท (บัญชี กองทุนน้ำมันยังเป็นบวก 19,223 ล้านบาท บัญชีกองทุน LPG ติดลบ 22,295 ล้านบาท )​ เงินยังไหลออกสุทธิ 5,963 ล้านบาทต่อเดือน (เป็นการชดเชยราคาดีเซล 4,276 ล้านบาทต่อเดือน และชดเชยราคาLPG อยู่ที่ 1,687 ล้านบาทต่อเดือน )​

ฐานะกองทุนที่ติดลบ ทำให้คณะกรรมการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ต้องอนุมัติให้กู้เงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อเติมสภาพคล่องของกองทุนตามที่กฏหมายเปิดช่องไว้ให้

ล่าสุดที่ประชุม กบง.อนุมัติให้ตรึงราคา LPG ต่อถึง 31 ม.ค. 2565 และว่าเงินกู้จะเข้าสู่ระบบได้ประมาณเดือน มิ.ย. 2565

3.โรงไฟฟ้าชุมชนฯ นำร่องสำเร็จ เอกชนแห่ร่วมวงประมูล กระทรวงพลังงานคาดช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน 27,000 ล้านบาทในระยะ 20 ปี

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก(โครงการนำร่อง )150 เมกะวัตต์ ถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จที่สุดของกระทรวงพลังงานในปี 2564 ที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอดในช่วงที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันมาตั้งแต่ต้น นั่งเป็นรัฐมนตรีพลังงาน

โดยโครงการดังกล่าวเปิดประมูลได้สำเร็จไปเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 มีเอกชนจับมือกับชุมชนเข้าร่วมประมูลมากกว่า 246 ราย และมีผู้ชนะการประมูลที่เสนอราคาค่าไฟฟ้าต่ำสุดทั้งสิ้น 43 ราย กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 149.50 เมกะวัตต์ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.1831 บาทต่อหน่วย

การที่ภาคเอกชนและวิสาหกิจชุมชน ต่างให้ความสนใจจำนวนมาก เนื่องจากเป็นโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโครงการแรก หลังจากไม่ได้เปิดรับซื้อมานานกว่า 2 ปี โดยเป็นโครงการที่เกษตรกรมีโอกาสจะได้เข้าร่วมเป็นเจ้าของโครงการและสามารถปลูกพืชพลังงานจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้า ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรระยะยาว

กระทรวงพลังงานออกมาประกาศเรื่องของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนว่าเป็นผลงานเด่นในปี 64 ของกระทรวง ที่จะมีเม็ดเงินกว่า 27,000 ล้านบาทที่เกิดจากการลงทุนและจัดซื้อวัตถุดิบไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนตลอดระยะเวลา 20 ปี ตามอายุโรงไฟฟ้า

อย่างไรก็ตามปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ระบุไว้ในแผนPDP 2018 rev1 ปริมาณรวม 1,933 เมกะวัตต์ นั้น ในการปรับปรุงแผนPDPล่าสุด ถูกปรับลดลงเหลือประมาณ 700 เมกะวัตต์ โดยจะเดินหน้ารับซื้ออีกประมาณ 500 เมกะวัตต์ในอีก 10 เดือน ข้างหน้า

4.ปรับแผน PDP ระยะ 10 ปีแรก รับกระแสโลกลดคาร์บอนไดออกไซด์​ เซอร์ไพรส์ไฟฟ้าพลังงานลม เร่งซื้อเพิ่มอีก 1,230 เมกะวัตต์

อ้างถึงทิศทางกระแสโลกที่มุ่งไปสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน ( Carbon Neutrality)​ ส่งผลให้กระทรวงพลังงานต้องจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ และปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ( PDP 2018 ) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายนำประเทศเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050

โดย PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ปรับปรุงใหม่ในช่วง 10 ปีแรก ( 2564-2573)​ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานหรือ กบง.ไปอย่างเงียบๆเมื่อวันที่ 28 ต.ค.64 นั้นสร้างความประหลาดใจให้กับคนในแวดวงพลังงานเป็นอย่างมาก เพราะมีการเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมเข้าระบบเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีแรกในปริมาณถึง 1,230 เมกะวัตต์จากแผนเดิมที่มีอยู่เพียง 270 เมกะวัตต์ โดยจะเข้าระบบตั้งแต่ปี67-71 ปริมาณปีละ 200 เมกะวัตต์​ ส่วนปี 72 และ 73 ปีละ 250 เมกะวัตต์ โดยยังมีประเด็นคำถามถึงศักยภาพของลมในประเทศและอัตราค่าไฟฟ้าที่จะรับซื้อว่ารัฐจะให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าช่วยแบกภาระต้นทุนเท่าไหร่ ในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนพลังงานลมดังกล่าว

  1. กพช.ไฟเขียวกรอบFeed in Tariff โรงไฟฟ้าขยะ จูงใจเอกชนลงทุน

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 5 พ.ย.64 เห็นชอบสรุปกรอบเงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง หรือ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ของโรงไฟฟ้าจากขยะ โดย FiT ที่ให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ อยู่ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.08 บาทต่อหน่วย (FiT Premium 8 ปี 0.70 บาท/หน่วย) ส่วนผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10-50 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี

โดยการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)มีมติอนุมัติให้ใช้ FiT ในอัตราสูงสุด ตามกรอบ กพช.อนุมัติ นั้นจูงใจอย่างมากสำหรับเอกชนผู้ลงทุน

สำหรับปริมาณที่จะต้องมีการรับซื้อตามแผนรวม 400 เมกะวัตต์นั้น มีแนวโน้มที่จะแบ่งออกเป็น 2 เฟส เฟสละ 200 เมกะวัตต์ โดยเฟสแรกจะเปิดรับซื้อเฉพาะโครงการ VSPPและSPP ที่ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หรือ สถ. กระทรวงมหาดไทยจัดส่งรายชื่อเข้ามา โดยไม่ต้องมีการประมูลแข่งขัน

สำหรับเฟสสองที่เหลืออีกประมาณ 200 เมกะวัตต์ จะต้องรอให้กระทรวงพลังงานกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดการรับซื้อไฟฟ้าที่ชัดเจน และนำเสนอให้ที่ประชุม กพช.ให้ความเห็นชอบก่อน

โครงการที่ทาง สถ.จัดทำเป็นลิสต์โครงการเอาไว้ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าประเภทVSPP ขนาดต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ จำนวน 26 โครงการ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 187 เมกะวัตต์ โดยเอกชนที่มีโครงการอยู่ในมือมากที่สุดคือ บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด จำนวน 8 โครงการกำลังการผลิตรวม 52.7เมกะวัตต์ รองลงมาคือกลุ่มเมโทร เอ็นเนอยี่ 3 โครงการ กำลังการผลิต รวม 23.2 เมกะวัตต์ กลุ่มบริษัทท่าฉาง อุตสาหกรรม 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 22 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามทาง กกพ. คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเปิดรับซื้อได้ในไตรมาสแรกของปี 2565 นี้

ในการปรับแผน PDP ระยะ 10 ปีแรก ยังจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 200 เมกะวัตต์ โดยจะเข้าสู่ระบบในปี 67 และ 68 ปีละ100 เมกะวัตต์

งานเชิงนโยบายพลังงานที่อนุมัติไว้ในปี 64 กลุ่มที่ได้รับประโยชน์เต็มที่อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มเอกชนผู้ลงทุนโรงไฟฟ้าขยะที่แต่งตัวพร้อมรอประกาศรับซื้อไว้ล่วงหน้าแล้ว

Advertisment

- Advertisment -.