EGAT Chemical รู้จักงานด้านเคมีโรงไฟฟ้าของ กฟผ.

- Advertisment-

บทความวิชาการจาก กฟผ.

EGAT Chemical รู้จักงานด้านเคมีโรงไฟฟ้าของ กฟผ.

การผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด จำเป็นต้องใช้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าสูง ตั้งกระจายไปทั่วภูมิภาค เพื่อส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ โดยโรงไฟฟ้าเกือบทุกประเภทนั้น จำเป็นต้องใช้น้ำ เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานของโรงไฟฟ้า ทั้งในการนำน้ำมาต้มให้เดือดจนกลายเป็นไอน้ำแรงดันสูง เพื่อนำมาใช้ปั่นกังหันขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนและโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม หรือใช้น้ำในการระบายความร้อนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และจะใช้ Cooling tower ทำหน้าที่ระบายความร้อนของน้ำหล่อเย็น (Cooling water) ที่มีอุณหภูมิสูง ให้กลายเป็นน้ำหล่อเย็นที่อุณหภูมิต่ำ แล้วจึงวนกลับมาใช้งานในระบบระบายความร้อนของเครื่องจักรต่อไป

- Advertisment -

ความสำคัญของน้ำในการผลิตไฟฟ้านั้น เปรียบเสมือนเลือดในร่างกายมนุษย์ ที่ทำหน้าที่นำออกซิเจนและสารอาหารไปส่งยังทุกส่วนของร่างกายเพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้เป็นปกติ ในขณะเดียวกัน เลือดก็นำคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียอื่น ๆ ขับออกจากร่างกาย คล้ายกับการทำหน้าที่ของน้ำในโรงไฟฟ้าที่ใช้แรงดันไอน้ำในการขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และใช้น้ำในการระบายความร้อนจากกระบวนการผลิต เพราะฉะนั้น การตรวจวัดคุณภาพน้ำในกระบวนการผลิตไฟฟ้านั้น จึงมีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการควบคุมคุณภาพน้ำให้มีความเหมาะสมกับการใช้งาน และมีความบริสุทธิ์สูงที่สุด เพื่อลดปัญหาการกัดกร่อน การอุดตัน หรือการรั่วของอุปกรณ์ในระบบหม้อไอน้ำ และระบบอื่น ๆ ในโรงไฟฟ้าที่ต้องใช้น้ำ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าได้

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณภาพน้ำและไอน้ำในโรงไฟฟ้ารวมไปถึงน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า ให้เป็นไปตามมาตรฐานมาโดยตลอด โดยฝ่ายเคมี กฟผ. มีหน้าที่ให้บริการด้านเคมีโรงไฟฟ้า (Power Plant Chemistry Services) กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และโรงไฟฟ้าของเอกชนที่มีสัญญาให้บริการงานรับจ้างเดินเครื่องและบำรุงรักษากับ กฟผ. ทั้งยังจัดเตรียมสารเคมีที่จำเป็นต้องใช้ในการควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาด้านการกัดกร่อนและการเกิดตะกรันในระบบและอุปกรณ์ อันส่งผลเสียหายต่อระบบผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการให้บริการข้อมูลด้าน Engineering และการตรวจสอบเฝ้าระวังคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างการเดินเครื่องด้วย เช่น การตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ระบายจากปล่องของโรงไฟฟ้า (Stack Emission) และคุณภาพน้ำจากระบบบำบัดน้ำเสีย ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ มั่นใจว่า กฟผ. ได้ดำเนินการตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

“In nature nothing is created, nothing is lost, everything changes.”

ในธรรมชาติไม่มีอะไรถูกสร้างขึ้น, ไม่มีอะไรสูญหาย, ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป

อ็องตวน ลาวัวซีเย (Antoine Lavoisier) บิดาแห่งวิชาเคมีสมัยใหม่

ด้วยประสบการณ์ด้านการควบคุมคุณภาพน้ำในโรงไฟฟ้ามากกว่า 40 ปี ของฝ่ายเคมีนั้น ทำให้มีข้อมูลและองค์ความรู้ รวมไปถึงเทคนิคต่าง ๆ ในการควบคุมคุณภาพน้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดเป็นความเชี่ยวชาญ สร้างความเชื่อมั่นว่าโรงไฟฟ้าของ กฟผ. จะสามารถเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ยอมรับจากโรงไฟฟ้าเอกชนภายนอก โดย ฝ่ายเคมี กฟผ. มีงานให้บริการหลัก อยู่ 3 ส่วน คือ

  1. งานควบคุมคุณภาพน้ำในโรงไฟฟ้า (Power Plant Chemistry Engineering) ให้บริการควบคุมคุณภาพน้ำและไอน้ำ ในระบบน้ำหล่อเย็น ระบบผลิตน้ำบริสุทธิ์ ของกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงให้คำปรึกษา และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบผลิต และปรับแต่งคุณภาพน้ำ

2. งานเคมีวิเคราะห์ (Laboratory Services) ให้บริการวิเคราะห์น้ำ ไอน้ำ ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า น้ำทิ้งที่ปล่อยออกจากโรงไฟฟ้า น้ำมันหล่อลื่นของอุปกรณ์เครื่องจักร รวมถึงมลสารการเผาไหม้ที่ระบายออกจากปล่องของโรงไฟฟ้า

3. งานเคมีภัณฑ์ (Chemical Supply and Chemical Services): ให้บริการจัดหา บริหารจัดการ และผลิตเคมีภัณฑ์เพื่อการปรับแต่งคุณภาพน้ำโรงไฟฟ้า รวมทั้งให้คำแนะนำในการใช้สารเคมี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด

นอกจากความเชี่ยวชาญด้านการควบคุมคุณภาพน้ำในโรงไฟฟ้า ฝ่ายเคมี กฟผ. ยังได้มีบทบาทสำคัญในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ที่สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นอย่างมาก โดยฝ่ายเคมีได้เป็นกำลังหลักในการผลิตเจลล้างมือแอลกอฮอล์ ความเข้มข้น 75 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้ชื่อ เจลอนามัย “น้ำใจ” กฟผ.

ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายใน และจิตอาสา กฟผ. มาร่วมแรงร่วมใจผลิตเพื่อแจกจ่ายให้กับชุมชน โรงเรียน รวมไปถึงโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่มีความต้องการใช้เจลล้างมือแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อโรค ซึ่งฝ่ายเคมี กฟผ. ได้ควบคุมการผลิตเจลดังกล่าวทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อความสะอาดและปลอดภัย

โดยสามารถผลิตและแจกจ่ายเจลอนามัยออกไปได้มากกว่า 60,000 ลิตร สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ที่ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือชุมชน สังคม และ กฟผ. ยังคงมุ่งมั่นที่จะยืนหยัดอยู่เคียงข้างคนไทยในทุกวิกฤตเช่นนี้ต่อไป

จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำที่เป็นเพียงองค์ประกอบทางเคมีเล็ก ๆ แปรเปลี่ยนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนเครื่องจักรของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ สู่การผลิตกระแสไฟฟ้า สร้างคุณประโยชน์นานับประการ ฝ่ายเคมี กฟผ. ตั้งมั่นในความพร้อมทั้งในด้านเทคโนโลยี บุคลากร เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่จะดูแลคุณภาพน้ำ และอากาศของโรงไฟฟ้าภายใต้วิสัยทัศน์ “ผู้นำงานบริการเคมีโรงไฟฟ้า ด้วยนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ( Leader of Power Plant Chemistry Services with Eco-Friendly Innovation )” เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสืบไป

 

 

 

Advertisment

- Advertisment -.