BGRIM เตรียมขอขยายนำเข้าLNG 1 แสนตันต่อปี ป้อนโรงไฟฟ้าในโครงการสนามบินอู่ตะเภา

- Advertisment-

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เตรียมขอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขยายการนำเข้า LNG ปริมาณ 1 แสนตันต่อปี ป้อนโรงไฟฟ้าระบบผสมผสาน (Hybrid) ระหว่าง LNG และพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 95 เมกะวัตต์ ใหญ่ที่สุดในโลก ใช้ร่วมกับ Energy Storage 50 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าของสนามบินอู่ตะเภา ,รถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินและ รองรับผู้ใช้ไฟฟ้าเดิมของกองทัพเรือ คาดใช้เงินลงทุน 3,800 ล้านบาท เผยผู้ค้า LNG กว่า 20 รายเสนอขายก๊าซให้ บี.กริม คาดสามารถคัดเลือกผู้ค้าก๊าซฯ ได้ในปี 2563 ก่อนนำเข้าจริงปี 2565

วันที่ 26 มิ.ย. 2563 บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM  ได้ลงนามร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยเป็นการลงนามระหว่างนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กับ นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกรรมการ และนางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวว่า ภายหลังจากการลงนามเช่าที่ดินราชพัสดุฯ แล้ว ในปี 2563 นี้ บริษัทฯ เตรียมคัดเลือกผู้ค้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อซื้อก๊าซฯมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าและระบบผลิตน้ำเย็น-ไอน้ำ ของ “โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” เพื่อผลิตไฟฟ้าขนาด 95 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้มีผู้จำหน่าย LNG ในต่างประเทศกว่า 20 รายได้เสนอขาย LNG ให้บี.กริม ซึ่งขณะนี้ถือเป็นตลาดของผู้ซื้อ เพราะปริมาณ LNG มีมากกว่าความต้องการใช้

- Advertisment -

โดยขั้นตอนการนำเข้าก๊าซฯดังกล่าว จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อขอขยายการนำเข้า LNG เพิ่มเติมอีก 1 แสนตันต่อปี จากเดิมที่บี.กริม ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากกกพ. ขนาด  650,000 ตันต่อปี เพื่อจัดจำหน่ายให้กับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัท โดยกำหนดเริ่มนำเข้าทั้งจำนวน 6.5 แสนตันและส่วนเพิ่มอีก 1 แสนตันในปี2565  และตามกฎระเบียบของสัญญาดังกล่าว บี.กริม สามารถขอขยายการนำเข้า LNG เพิ่มเติมได้หากมีความต้องการใช้ที่ชัดเจนและเป็นการนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งโรงไฟฟ้า 95 เมกะวัตต์ดังกล่าวถือเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งสามารถยื่นขอขยายปริมาณนำเข้า LNGได้

สำหรับโรงไฟฟ้าดังกล่าว เป็นโรงไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid Power Plant)ระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม(Co-Generation Power Plant) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(PV Solar Farm) ขนาด 95 เมกะวัตต์ และใช้ระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ(Energy Storage System-ESS)ขนาด 50 เมกะวัตต์ชั่วโมงด้วย ทำให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้าประเภท Hybrid ขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ใช้เงินลงทุนประมาณ 3,800 ล้านบาท  สำหรับป้อนสนามบินอู่ตะเภา 40 เมกะวัตต์,รถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง,สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา) ไม่น้อยกว่า 20 เมกะวัตต์ และรองรับผู้ใช้ไฟฟ้าเดิมของกองทัพเรือที่มีอยู่ 60 เมกะวัตต์ ที่จะย้ายมาใช้ไฟฟ้าของ บี.กริม ทั้งนี้ยืนยันว่าแม้ความต้องการใช้จะเกินปริมาณกำลังผลิต 95 เมกะวัตต์แต่เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ทำให้รองรับปริมาณส่วนเกินดังกล่าวได้

สำหรับสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ มีสัญญา 29 ปี 6 เดือน โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างโรงไฟฟ้าประมาณ 2 ปีครึ่ง โดยอัตราค่าเช่าที่ดิน แบ่งเป็นค่าเช่าที่ดิน 3% ของมูลค่าที่ดิน และส่วนแบ่งรายได้ 15% จากการขายไฟฟ้า และราคาขายไฟฟ้าเป็นอัตราที่ไม่สูงกว่าราคาจำหน่ายในนิคมอุตสาหกรรมทั่วไป

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานกรรมการบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวว่า กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกร่วมกับ สกพอ. ได้คัดเลือก บริษัท บี.กริม เป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุ พื้นที่ 100 ไร่ เพื่อดำเนินการด้านสาธารณูปโภค โครงการงานระบบผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยจะผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานจำนวน 95 เมกะวัตต์

บริษัทฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการก่อสร้าง พัฒนา และบริหารโรงไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จให้กับพื้นที่อุตสาหกรรมชั้นนำในเขตจังหวัดพื้นที่พัฒนาของ EEC มาตลอด ตั้งแต่เริ่มการพัฒนาโรงไฟฟ้าเอกชนครั้งแรกในปี 2538 ดังนั้นบริษัทฯ มั่นใจว่าจะสามารถใช้ความพร้อมและประสบการณ์มาพัฒนาโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ให้กับสนามบินอู่ตะเภาและพื้นที่พัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisment

- Advertisment -.