ไออาร์พีซี เตรียมพร้อมทำธุรกิจยุค New Normal รับมือผลกระทบโควิด-19

- Advertisment-

ไออาร์พีซี เตรียมพร้อมทำธุรกิจยุคNew Normal รับมือกับผลกระทบจากโควิด-19 และ แนวโน้มการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีพลังงาน แนะภาคธุรกิจศึกษาข้อมูลตลาด วิเคราะห์ และปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง ด้าน ซีไอเอ็มบี ไทย ลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2564 ลงเหลือ 1.3% จากเดิมคาดโต 1.9% เหตุโควิดระลอก 3 ยังระบาดหนัก ด้านนักการขาย เปิด 5 กลยุทธ์ใช้ช่องทางออนไลน์เปิดการขายเข้าถึงลูกค้า

วันที่ 8 ก.ค. 2564 บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC จัดสัมมนาบนเวที “เจาะลึกทางออกธุรกิจ ใน POLIMAXX WEBINAR 2021 ส่องธุรกิจฝ่าวิกฤตโควิดระลอกใหม่” ผ่านระบบออนไลน์ โดยนายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุค New Normal มากขึ้น ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเวลาพบปะกัน ผู้ประกอบการต่างมักจะพูดคุยถึงเทรนด์ปิโตรเคมี ที่เกี่ยวข้องกับด้านดีมานด์และซัพพลาย และแนวโน้มของราคาพลังงานที่จะส่งผลต่อธุรกิจ แต่ปัจจุบันแนวโน้มของโลกเปลี่ยนไปมากขึ้น ทั้งเรื่องของวิธีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด (Net Zero Emissions ) เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีพลังงานอย่างรวดเร็ว (Energy Disruption) และปัญหาสงครามการค้า (Trade war) และที่รุนแรงที่สุด ก็คือเรื่องของผลกระทบโควิด-19 ในมิติต่างๆ

โดยในส่วนของ IRPC ทั้งระดับผู้บริหารและพนักงาน ก็พร้อมใจกันร่วมฟันฝ่า New Normal ต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อตอบโจทย์ในเรื่องความต้องการของลูกค้าปลายทางให้มากที่สุดและให้เข้ากับการใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนและสะดวกสบาย ซึ่งบริษัท ได้พิจารณาเห็นว่าสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในโลกยุคปัจจุบันคือ การเข้าถึงข้อมูลอย่างครบถ้วน ควรจะวิเคราะห์ข้อมูลได้ และสามารถสังเคราะห์ข้อมูลนั้นประกอบกันขึ้นมาเพื่อประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ และที่สำคัญเมื่อทราบถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรม และพลวัตของโลกแล้ว เราจะใช้ข้อมูลนั้นทำการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างไร ก็จะเป็นความท้าทายในภาวะปกติใหม่ที่องค์กรทั่วไปจะต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับภาวะต่างๆเหล่านี้ได้

- Advertisment -

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวในหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจหลังโควิดจะเป็นอย่างไร” โดยมองว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่มีแนวโน้มยาวนาน ประกอบกับการฉีดวัคซีนล่าช้า หรือวัคซีนยังมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ มีผลต่อเนื่องให้การระบาดของโควิด-19 ระลอกอื่นๆ กำลังจะเกิดขึ้นตามมา ขณะเดียวกันไวรัสกลายพันธุ์ และปัจจัยการฟื้นตัวของตลาดโลก
สำนักวิจัยฯ จึงได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ลงจาก 1.9% เหลือ 1.3% และปี2565 ลงจาก 5.1% เหลือ 4.2%

นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตช้า และยังเผชิญ 4 ปัจจัยเสี่ยงเสริมเข้ามา ได้แก่ 1.Stagnant หรือเศรษฐกิจนิ่ง จากกำลังซื้อที่หายไป 2. Uneven หรือ ความไม่เท่าเทียมกัน ของกลุ่มมนุษย์เงินเดือน และธุรกิจที่มีสต๊อกจำนวนมาก ยังได้รับผลกระทบไม่มากและสามารถเติบโตได้ ขณะที่อาชีพอิสระ ค้าขาย ได้รับผลกระทบสูง 3. Reverse หรือ โลกาภิวัฒน์ตีกลับ การที่ประเทศสหรัฐฯ กลับมาจับมือกับพันธมิตรเพื่อกดดันไม่ให้จีนขึ้นเป็นประเทศผู้นำของโลก ซึ่งไทยไม่สามารถเลือกข้างได้ และต้องเป็นมิตรกับทั้งสองฝ่าย ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องพยายามมองหาตลาดใหม่ๆ แม้ปัจจัยเสี่ยงนี้จะคาดเดาได้ยากก็ตาม และ4. Effective ประสิทธิภาพของวัคซีน หากได้วัคซีนที่ลดการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ จะช่วยให้กิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้า เติบโตช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นพาเศรษฐกิจไทยกลับไปสู่ภาวะวิกฤต

อย่างไรก็ตาม ยังมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นเร็วกว่าที่คาด หากมี 4 ปัจจัยเร่งหรือ Hopes: CARE ได้แก่ 1.Confidence หรือความเชื่อมั่น หากไทยมีวัคซีนที่จัดสรรให้ประชาชนได้อย่างต่อเนื่องจนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้แล้ว ความเชื่อมั่นจะกลับมาและทำให้ประชาชนกลับมาจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น 2. Agriculture หรือการที่ภาคการเกษตรยังสามารถประคองผู้ที่ตกงานได้ เพราะราคาสินค้าเกษตรยังดี ปริมาณน้ำมีมากกว่าปี 2563 ที่ผ่านมา 3. Return of tourists การกลับมาของภาคท่องเที่ยว โดยไทยกำลังทดสอบระบบภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ หากสำเร็จก็จะขยายไปพื้นที่อื่นๆต่อ ดังนั้นขณะนี้ไทยต้องเน้นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเป็นหลักก่อน และ Expenditure หรือ การใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งการใช้จ่ายของรัฐยังเป็นความหวังในการประคองเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตามทั้ง 4 ปัจจัยนี้ จะสร้างความเชื่อมั่น เตรียมแผนล่วงหน้า คู่ขนานไปกับงบประมาณใช้จ่ายภาครัฐ จะช่วยประคองกำลังซื้อของคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ได้

ม.ล.ชัยวัฒน์ ชยางกูร นักขายมืออาชีพ ผู้ก่อตั้ง CC Knowledge Base Co.,Ltd. กล่าวในหัวข้อ “ 7 ขั้นตอนการขายอย่างมีประสิทธิภาพในยุค COVID-19” ว่า ปัจจุบันการทำงานในด้านการขายเป็นสิ่งที่หยุดไม่ได้ ไม่ว่าสถานการณ์ในโลกจะเป็นอย่างไร งานขายคือเป้าหมายที่สำคัญ แต่ถ้าไม่มีลูกค้า ไม่มีออร์เดอร์ ก็จะลำบาก ซึ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ไม่สามารถเข้าหาลูกค้าได้ แต่ยังสามารถทำการขายได้ผ่านทางโทรศัพท์ และถือเป็นการเข้าพบกับลูกค้าอย่างแรกที่สำคัญในการสร้างความประทับใจในการรู้จักกัน ทำความสนิทสนมซึ่งกันและกัน ดำเนินไปสู่การเป็นลูกค้า และเป็นพันธมิตรกันในอนาคต

โดย 7 ขั้นตอนของนักขายมืออาชีพ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในยุคโควิด-19 ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 รู้จักสินค้าอย่างถ่องแท้ ขั้นตอนที่ 2 วิธีทำความรู้จักและเข้าใจลูกค้า ขั้นตอนที่ 3 หลักการเข้าพบและนำเสนอสินค้า ขั้นตอนที่ 4 วิเคราะห์และสร้างความต้องการของลูกค้า ขั้นตอนที่ 5 การเสนอขาย ขั้นตอนที่ 6 ทักษะและเทคนิคการปิดการขายที่ได้ผล ขั้นตอนที่7 การติดตามเยี่ยมเยียน

รวมถึง ยังต้องใช้อีก 5 กลยุทธ์ทำการตลาดยุคใหม่ ได้แก่ 1.SEC Marketing หรือ Search Engine Optimization เป็นสิ่งที่ช่วยให้เว็บไซต์ติดอันดับ Google เร็วขึ้น และเพิ่มการเข้าถึงจากลูกค้า

  1. Video Marketing เหมาะกับผู้คนที่ชื่นชอบการดูและฟังมากกว่าการอ่านด้วยตนเอง ธุรกิจจำเป็นต้องวางแนวคิด ในการทำวีดีโอออนไลน์ออกมาให้น่าสนใจมากที่สุด เพื่อเพิ่มการรับรู้หรือการเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น
    3.Online Promotion การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนต้อง “Work From Home” (WFH) และอยู่กับตัวเองมากขึ้น ช่องทางออนไลน์อย่างโซเชียลมีเดีย จึงถูกใช้งานเพิ่มมากขึ้น
  2. Influencer Marketing การตลาดคนดัง จะเป็นการใช้กระแสของคนดัง ที่มักมีคนติดตามความเคลี่อนไหวอยู่เสมอสร้างผลกระทบ หรือ Impact หรือใช้ประโยชน์ในการรีวิวสินค้าให้เข้าถึงและเกิดพฤติกรรมคล้อยตามและอยากสัมผัสสินค้าได้ง่ายขึ้น และ 5. Exclusive Experience Marketing การมอบประสบการณ์สุดพิเศษ ไม่ใช่แค่ลด แลก แจก แถม แต่ต้องทำให้พิเศษกว่า เช่น การมีบัตรสะสมแต้มผ่านแอพลิเคชั่นต่างๆ การสร้างกลุ่มพูดคุยระหว่างแบรนด์กับลูกค้า เอาไว้มอบสิทธิพิเศษในช่วงเวลาต่างๆ เป็นต้น
    กลยุทธ์เหล่านี้จะทำให้ลูกค้าสัมผัสถึงความจริงใจและอยากเป็นลูกค้าต่อไปเรื่อยๆ เพราะได้รับความพิเศษมากกว่าคนอื่น และที่สำคัญไม่ว่าจะเกิดวิกฤตหรือไม่ จะต้องไม่หยุดทำการขาย
Advertisment