- Advertisment-

ยิ่งใกล้ถึงวันจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ โครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ขนาด 45 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ก็ยิ่งได้รับความสนใจจากสื่อจำนวนมาก รวมถึงสื่อหลายสำนักจากต่างประเทศ  เพราะถือเป็นโครงการ Floating Solar ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ ขณะนี้ และยังเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริดระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำและพลังน้ำจากเขื่อนกักเก็บน้ำ

สื่อต่างประเทศหลายแห่งนำเสนอเรื่องราวของโครงการโซลาร์ฟฟาร์มลอยน้ำที่เขื่อนสิรินธรของ กฟผ. โดยไฮไลท์ในประเด็นที่ว่า โครงการนี้เป็นโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่ปัจจุบันถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นโครงการซึ่งถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดในอนาคตของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้

ทุ่นลอยน้ำโซล่าเซลล์เขื่อนสิรินธร

สำนักข่าวจาก France Info ของฝรั่งเศส นำเสนอเรื่องราวโครงการโซลาร์ลอยน้ำ ผ่านเว็บไซต์  www.francetvinfo.fr ในหัวข้อ Thaïlande : plus de 140 000 panneaux photovoltaïques installés sur l’eau  มีเนื้อหาสำคัญว่า โครงการนี้เป็นโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนผิวน้ำจำนวนมหาศาลกว่า 144,000 แผง ซึ่งกินพื้นที่มากถึง700,000 ตารางเมตร หรือ เทียบเท่าสนามฟุตบอลถึง 100 สนาม ลอยอยู่เหนือผิวน้ำและผลิตไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้สำหรับคนจำนวนมากถึง 100,000 คน เทียบกับการใช้ไฟฟ้าของเมืองอาวิญง ในฝรั่งเศส ทั้งเมือง นอกจากนั้น ยังระบุด้วยว่า เทคโนโลยีโซล่าร์ลอยน้ำที่ทาง กฟผ.เลือกใช้นี้ เป็นเสมือนเทคโนโลยีอนาคตของประเทศไทยเลยทีเดียว

- Advertisment -
Cr: Reuters

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าว Thailand is building one of the world’s biggest floating hydro-solar farms. The 300-acre venture marks a significant shift towards a greener future for the Southeast Asian country โดยไฮไลท์ว่า ประเทศไทยกำลังจะสร้างโครงการโซลาร์ลอยน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกกินพื้นที่ราว 300 เอเคอร์ ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของประเทศในภูมิภาค​เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต

ส่วน South China Morning Post สื่อดังของฮ่องกง พาดหัวข่าวว่า “Massive hybrid floating solar farm takes shape on hydropower dam reservoir in Thailand” ระบุถึงโครงการของ กฟผ. ว่า เป็นโครงการไฮบริดระหว่างโซลาร์ลอยน้ำและโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก 

เช่นเดียวกับการนำเสนอของ Global News จากแคนาดา ที่พาดหัวว่า “Thailand close to completing world’s biggest hydro-floating solar farm” และ สำนักข่าว DW ของเยอรมนี​ ที่ไฮไลท์ประเด็นข่าวนี้ว่า  “Thailand’s state-owned power utility wants to promote renewable energy production in the kingdom with floating solar power plants. They not only save valuable land area, but also offer technical advantages” สะท้อนมุมมองว่า โครงการของ กฟผ. นอกจากจะเป็นการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน และลดการใช้พื้นที่ติดตั้งบนดินแล้ว ยังเป็นการเลือกใช้เทคโนโลยี่ที่ก้าวหน้าขึ้นไปจากที่มีอยู่เดิม

สำหรับโครงการ Hydro Floating Solar Hybrid System ขนาด 45 เมกะวัตต์ ของ กฟผ. นั้นมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์​ราวสิ้นเดือน มิ.ย. 2564 นี้ ซึ่งโครงการนี้ กฟผ. ได้แนวคิดมาจากโครงการสาธิตขนาดเล็กๆที่เขื่อน Alto Rabagao ของโปรตุเกส ซึ่งจุดเด่นที่น่าสนใจ คือ มีการนำระบบโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำมาใช้ผสมผสานกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำของตัวเขื่อนที่มีกำลังผลิต 72 เมกะวัตต์ (เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง กำลังผลิตเครื่องละ 36 เมกะวัตต์)

ทั้งนี้ ทีมวิศวกรของ กฟผ. ได้มีการพัฒนาโครงการให้เป็นระบบ Hybrid System คือผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใช้แหล่งพลังงานมากกว่า 2 ประเภทขึ้นไป โดยมีการผลิตไฟฟ้าจากทั้งแผงโซลาร์เซลล์ (กำลังผลิตติดตั้ง 45 เมกะวัตต์)​ และพลังน้ำจากเขื่อน โดยเป็นการใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่แล้วร่วมกัน เช่น สายส่งไฟฟ้า สถานีไฟฟ้าแรงสูง รวมถึงอุปกรณ์ในสถานีไฟฟ้าฯ ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้า อุปกรณ์ตัดตอนไฟฟ้าแรงสูง ฯลฯ  ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยลดต่ำลง ในขณะที่มีจำนวนชั่วโมงการผลิตไฟฟ้าที่ยาวนานขึ้น เพราะในช่วงเวลากลางวันที่เดิมต้องปล่อยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนตอบสนองความต้องการ ก็จะเปลี่ยนมาผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แทน  ส่วนในช่วงเวลากลางคืนที่ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไม่ได้ จึงจะใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

อีกความน่าสนใจหนึ่งคือ การลงทุนส่วนแผงโซลาร์เซลล์ในโครงการของ กฟผ. ที่เขื่อนสิรินธรนั้น เป็นชนิดดับเบิลกลาส (Double Glass) ที่สามารถทนต่อความชื้นสูงได้ดี ทำให้ไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งยังติดตั้งทุ่นลอยน้ำชนิด HDPE (High Density Polyethylene ) ที่มีความทนทานต่อการใช้งานมากกว่าอีกด้วย

โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับล่าสุด หรือ PDP 2018 rev1 ที่ กฟผ. มีเป้าหมายจะดำเนินการในทั้ง 9 เขื่อนหลักของ กฟผ. กำลังการผลิตติดตั้งรวมกว่า 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งแน่นอนว่า หากโครงการแรกที่เริ่มต้นที่เขื่อนสิรินธร ประสบความสำเร็จ การดำเนินการก้าวต่อไปเพื่อขยายผลไปสู่โครงการในเขื่อนหลักอื่นๆของ กฟผ. ก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งคนไทยและต่างประเทศมากขึ้นเป็นลำดับ และบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

*** ขอบคุณภาพจาก กฟผ.


ที่มา ลิงก์ข่าวจากสื่อต่างประเทศ

Advertisment

- Advertisment -.