แนะกลุ่มโฮมออฟฟิศ และบ้านที่บิลค่าไฟเกิน 5 พันบาทต่อเดือน ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป คุ้มทุนเร็ว

cof
- Advertisment-

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน แนะผู้ใช้ไฟฟ้า 2 กลุ่มได้แก่ โฮมออฟฟิศ,บ้านที่มีผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยอาศัยทั้งวัน และผู้ใช้ไฟฟ้าเกิน 5,000 บาทต่อเดือน  ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคาในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ที่ได้อัตราค่าไฟขายเข้าระบบใหม่ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย จะมีความคุ้มค่าการลงทุน โดยคืนทุนเร็วภายใน 6-7 ปี 

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนว่า บ้านที่เหมาะสมจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ตามโครงการของรัฐบาลที่ปรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจาก 1.68 บาทต่อหน่วย เป็น 2.20 บาทต่อหน่วย ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564 ควรพิจารณา 3 หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ก่อน

1.มีการใช้ไฟฟ้าตอนกลางวัน หรือใช้ทั้งวัน เป็นส่วนใหญ่ เช่น บ้านที่มีผู้สูงอายุอยู่ตลอดทั้งวัน หรือ บ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียง เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ จะผลิตได้เฉพาะตอนกลางวันที่มีแดดเท่านั้น หากมีการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวัน จะช่วยให้บ้านหลังนั้นประหยัดค่าไฟฟ้าลง จากปกติต้องใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าในอัตราประมาณ 3.80 บาทต่อหน่วยลงไปได้ทันที เช่น ปกติเคยใช้ไฟฟ้า 200 หน่วยต่อเดือน เมื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าได้ 100 หน่วย จะทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้ 100 หน่วย หรือ 380 บาทต่อเดือนทันที เป็นต้น

- Advertisment -

2.ที่อยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้าเกิน 5,000 บาทต่อเดือน เช่น กลุ่มสำนักงานออฟฟิศ ทาวน์โฮม  เนื่องจากข้อกำหนดของการไฟฟ้ามีหลักเกณฑ์ให้บ้านแต่ละหลังจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าได้ไม่เกิน 15% ของขนาดหม้อแปลง หรือเท่ากับประมาณ 5 กิโลวัตต์ต่อหลัง โดยต้นทุนติดตั้งอยู่ที่ประมาณ 35,000 บาทต่อ 1 กิโลวัตต์ เมื่อเฉลี่ยแล้วพบว่าจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าไปได้ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตามบางรายอาจติดตั้งเพียง 2-3 กิโลวัตต์ แค่ให้เพียงพอกับการใช้งาน หรือเหมาะสมกับค่าไฟฟ้าที่ใช้ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อเทียบต้นทุนการติดตั้งแล้วจะพบว่า มีราคาสูงกว่า ตามหลักการซื้อน้อยราคาแพง ซื้อมากราคาจะถูกลง จึงทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน อาจไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาติดตั้งได้

นอกจากนี้กรณีที่ผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ต้องการติดตั้งในปริมาณไฟฟ้ามาก เพราะมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าอาคารที่อยู่อาศัยมีต้นไม้หรือร่มเงาบังแสงแดดหรือไม่ หากบดบังแสงแดดช่วงกลางวันเป็นส่วนใหญ่ การติดตั้งแผงก็อาจไม่คุ้มค่าได้เช่นกัน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า จากการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน พบว่า อัตราค่าไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย ยังไม่เป็นอัตราที่จูงใจให้เข้าร่วมโครงการฯ เนื่องจากหากติดตั้งโซลาร์เซลล์ แต่ไม่เคยใช้ไฟฟ้าเลย ปล่อยให้ไฟฟ้าไหลกลับเข้าระบบ จะได้เงิน 2.20 บาทต่อหน่วย โดยทั้งเดือนจะขายไฟฟ้าได้เพียง 130 บาทต่อเดือน และเกิน 10 ปีก็ยังไม่คืนทุน

แต่หากมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ โดยใช้เองทั้งหมดไม่เหลือขายเข้าระบบเลย จะคืนทุนภายใน 6-7 ปี เนื่องจากการใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์จะประหยัดการซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐได้ 3.80 บาทต่อหน่วย ขณะที่ราคาขายไฟฟ้ากลับเข้าระบบได้เพียง 2.20 บาทต่อหน่วย ยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อขายไฟฟ้าโดยตรงนั่นเอง

สำหรับโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ได้ปรับหลักเกณฑ์ใหม่ นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ได้ปรับราคารับซื้อไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชน (โซลาร์ภาคประชาชน) สำหรับกลุ่มบ้านอยู่อาศัย จาก 1.68 บาทต่อหน่วย เป็น 2.20 บาทต่อหน่วย ทั้งกลุ่มประชาชนที่เข้าร่วมโครงการใหม่และที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)หรือได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ซึ่งเป็นไปตามตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 โครงการดังกล่าวจะเปิดรับซื้อรวม 50 เมกะวัตต์ ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี ซึ่งผู้สมัครรายใหม่ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการสามารถสมัครได้ทันทีที่เว็บไซต์ของ PEA และ กฟน.

Advertisment