- Advertisment-

ชมรมวิทยาการพลังงาน(ชวพน.) จัดเสวนาทางรอดวิกฤติพลังงานไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน แจงค่าไฟฟ้าสิ้นปีนี้ขยับขึ้นอีกแตะ 4.5 บาทต่อหน่วย แนะรัฐใช้วิกฤติเป็นโอกาสกำหนดทิศทางเชื้อเพลิงไฟฟ้าใหม่ มุ่งพลังงานทดแทนเป็นหลัก ด้านหอการค้าไทยเสนอทางรอดให้รัฐจัดซื้อน้ำมันดิบรัสเซียราคาถูกและจ้างโรงกลั่นผลิตขายประชาชนในช่วงวิกฤติพลังงาน ขณะ ปตท.ระบุรองนายกฯ สั่งให้เจรจารัสเซียหาส่วนลดน้ำมัน 7-10% คาด 3-6 เดือนข้างหน้าน้ำมันดิบมีโอกาสพุ่ง 150 เหรียญฯ ได้ ส่วน ส.อ.ท. วอนรัฐตรึงค่าไฟฟ้าอย่าให้ทะลุ 5 บาทต่อหน่วย

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) กล่าวในงานเสวนา “สงครามยูเครน กับวิกฤติพลังงานของไทย ทางเลือก ทางรอด ที่ต้องรู้” ซึ่งจัดโดยชมรมวิทยาการพลังงาน(ชวพน.) ว่า จากสถานการณ์รัสเซียบุกยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกและก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ประกอบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นหลังจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ลดความรุนแรงลง ส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าขยับสูงขึ้น โดยคาดว่าค่าไฟฟ้างวดต่อไป(ก.ย.-ธ.ค. 2565 ) จะปรับขึ้นมาอีกครั้งเกิน 4 บาทต่อหน่วยแน่นอน ซึ่งคาดว่าจะแตะระดับ 4.5-4.6 บาทต่อหน่วยได้

ดังนั้นทางออกหนึ่งที่ส่วนตัวเห็นด้วยในเวลานี้คือ การออกกฎหมายพิเศษดูแลสถานการณ์ราคาพลังงาน ซึ่งจะช่วยให้รัฐสามารถใช้ทุกวิธีที่จะลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) สำหรับผลิตไฟฟ้า เนื่องจากเป็นต้นทุนสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงในปัจจุบัน

- Advertisment -

นอกจากนี้ภาครัฐควรใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส โดยการหันกลับมาพิจารณาสัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าว่าจะอิงก๊าซฯระดับสูงต่อไปหรือไม่ หากจะใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าก็จะต้องหาแหล่งก๊าซฯ ใหม่ๆ และต้องมีถังเก็บ LNG ให้ใหญ่เพียงพอเพื่อบริหารการจัดซื้อในช่วงราคาถูกมาเก็บไว้ให้มากที่สุด แต่หากจะปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ส่วนตัวเห็นว่าไทยมีความได้เปรียบด้านพลังงานทดแทน ดังนั้นควรส่งเสริมพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ให้เข้าระบบไฟฟ้าของประเทศโดยตรงได้ในปริมาณมากๆ แต่ต้องวางระบบสายส่งไฟฟ้าให้ลงตัว

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภาครัฐไม่สามารถกำกับการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ 100% ดังนั้นต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและจัดหาเชื้อเพลิงเอง ส่วนภาครัฐควรเป็นเพียงหน่วยงานที่คอยสำรองไฟฟ้าในยามจำเป็นแทน

นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงในช่วงวิกฤตินี้คือ ภาครัฐหันไปจ้างโรงกลั่นผลิตน้ำมันสำเร็จรูป โดยรัฐจัดหาน้ำมันดิบที่มีราคาถูกและจ้างกลั่น เพื่อให้ได้น้ำมันสำเร็จรูปที่มีราคาถูกจำหน่ายให้ประชาชนชั่วคราว เนื่องจากปัจจุบันโรงกลั่นต้องดำเนินธุรกิจการกลั่นที่ต้องมีกำไรทำให้ต้นทุนปรับขึ้นลงตามราคาน้ำมันโลก

โดยล่าสุดรัสเซียประกาศขายน้ำมันที่มีส่วนลดถึง 20% ให้กับอินเดีย ในฐานะประเทศเป็นมิตรกับรัสเซีย ดังนั้นหากรัฐบาลไทยสามารถเจรจาซื้อน้ำมันจากรัสเซียที่มีส่วนลดได้ ก็สามารถนำมาจ้างกลั่นเพื่อลดต้นทุนการผลิตน้ำมันลงได้ส่วนหนึ่ง แต่ทั้งนี้ภาครัฐต้องหารือกับโรงกลั่น และต้องยอมแบกรับส่วนต่างราคาน้ำมันและต้นทุนการผลิตที่จะเกิดขึ้นเองด้วย ซึ่งแนวทางนี้มีหลายประเทศดำเนินการแล้วเช่นกัน แต่ความเสี่ยงก็ที่อยู่รัสเซียกำหนดราคาขายเป็นเงินสกุลรูเบิลของรัสเซียที่อ่อนค่าลงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หากรัฐจะใช้แนวทางนี้ก็ต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียให้รอบคอบก่อน

อย่างไรก็ตามประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันที่จะเลวร้ายที่สุดน่าจะอยู่ระดับ 150 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจีนและสหรัฐฯ จะกลับมาสร้างความสงบในโลกให้กลับคืนมาได้หรือไม่ หากยังกระตุ้นการสู้รบต่อไปมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นราคาน้ำมันแตะ 200 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลได้ 

นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้จัดหาน้ำมันป้อนความต้องการใช้ในประเทศ ยืนยันว่า จะพยายามจัดหาน้ำมันดิบไม่ให้เกิดการขาดแคลน และประเมินว่าในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า ราคาน้ำมันจะยังอยู่ในระดับสูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่หน่วยงานระดับโลก คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 2565 นี้ จะอยู่ที่ 95- 110 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ฉะนั้นถือเป็นสถานการณ์ที่ทุกประเทศต้องยอมรับเพราะเกิดจากภาวะสงคราม

“ประชาชนต้องร่วมมือกันรณรงค์ประหยัดการใช้พลังงาน เพราะ 3-6 เดือนข้างหน้ามีความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันยังสูงขึ้น และ 150 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลเป็นไปได้ แต่คงไม่ยืนราคานี้ตลอดทั้งปี ขณะเดียวกัน ปตท.พร้อมที่จะนำข้อเสนอเรื่องการลดค่าการกลั่นน้ำมัน ไปพิจารณาความเป็นไปได้และแนวทางที่เหมาะสมเพื่อร่วมดูแลราคาพลังงานอย่างเต็มที่”

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ ปตท.ไปพิจารณาการจัดซื้อน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มเติม หลังจากที่รัสเซีย ได้ให้ส่วนลด 15-20% สำหรับการจัดซื้อน้ำมันและก๊าซฯให้กับอินเดีย ซึ่งเบื้องต้น พบว่า เป็นการให้ส่วนลดสำหรับประเทศในแถบยุโรป แต่หากมาให้แถบเอเชีย อาจจะได้ส่วนลดเพียง 7-10% เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามปตท.อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้และดูเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย 

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ค่าการกลั่นของไทยอยู่ในระดับสูงเพราะอิงราคาตลาดสิงคโปร์นั้น กรณีนี้อยากชี้แจงว่า ไทยนำเข้าน้ำมันดิบ 80% จากต่างประเทศจึงจำเป็นต้องอ้างอิงราคาตลาดสากล และหากเอกชนผู้ซื้อน้ำมันเห็นว่าราคาหน้าโรงกลั่นแพง ก็มีทางเลือกที่สามารถจัดซื้อน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาขายได้ หากเห็นว่าคุ้มค่ากว่า ซึ่งต้องไปพิจารณาให้ดีว่าราคาหน้าโรงกลั่นแพงกว่านำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจริงหรือไม่

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ผลพวงจากราคาพลังงานแพง ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง โดยเฉพาะสิ่งทอ เยื่อกระดาษ และชีเมนต์ เป็นต้น ที่สำคัญปัญหาที่น่ากังวลที่สุดคือภาวะเงินเฟ้อ ที่ทำให้ต้นทุนทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ย ราคาเนื้อไก่ และเหล็ก เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ของโลกเมื่อมีเหตุการณ์การสู้รบทำให้ราคาปุ๋ยพุ่งสูง และกระทบเกษตรกร จนต้องมีการปรับขึ้นราคาพืชผล ซึ่งผู้บริโภคก็จะได้รับผลกระทบตามมา

นอกจากนี้ประเทศในยุโรปได้หันมากักตุนสำรองอาหารโดยเฉพาะเนื้อไก่ โดยสั่งนำเข้าจากไทยสูงมากในขณะนี้ ส่งผลให้ราคาไก่จากนี้ไปจะปรับสูงขึ้นอีก ขณะที่เหล็ก อลูมิเนียม เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของรัสเซียและยูเครน เมื่อทั้งสองประเทศไม่สามารถส่งออกได้ จะทำให้ราคาเหล็กทั่วโลกปรับสูงขึ้นและกระทบสินค้าบรรจุภัณฑ์ทั้งอาหารและยารวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์ด้วย

อย่างไรก็ตามภาคอุตสาหกรรมเห็นว่า สถานการณ์ราคาพลังงานที่เลวร้ายที่สุด อยู่ที่ค่าไฟฟ้าถ้าแพงถึงระดับ 5-6 บาทต่อหน่วย ภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบทันทีและจะทอนกำลังซื้อในประเทศลงไปด้วย ส่วนราคาน้ำมันโลกคาดว่าจะเลวร้ายสุดที่ราคา 150 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่หากการสู้รบรุนแรงกว่านี้ราคาอาจถึงระดับ 300 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลได้ ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เอกชนพอรับได้

Advertisment

- Advertisment -.