เสนอ กพช.ปลดล็อค เอกชนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันได้ภายใต้ERC Sandbox หวังมีผลเม.ย.นี้

- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน​(กกพ.)​ เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)​ ในการประชุมเดือนมี.ค.2563​นี้ ขอยกเว้นนโยบาย Enhanced Single Buyer​ ช่วยปลดล็อคให้ประชาชนซื้อขายไฟฟ้ากันเองได้  ภายใต้โครงการ ERC Sandbox  จากเดิมที่เปิดให้เฉพาะหน่วยงานการไฟฟ้า โดยหวังให้มีผลปฏิบัติภายในเม.ย.2563​ ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน​

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) ให้สัมภาษณ์ในระหว่างการนำคณะสื่อมวลชนเดินทางศึกษาดูงานด้านไฟฟ้าของบริษัท Kansai  Electric​ Power​ ของประเทศญี่ปุ่น​ ณ​ วันที่​ 16-20​ ก.พ.2563 ว่า กกพ.เตรียมนำเสนอวาระสำคัญให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เดือน มี.ค.2563​ นี้ พิจารณาให้ความเห็นชอบยกเว้นนโยบาย Enhanced Single Buyer ที่เดิมกำหนดให้หน่วยงานการไฟฟ้า ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)​ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า โดยไม่เปิดให้กับภาคเอกชนและประชาชนเป็นผู้รับซื้อ   แต่จะให้ดำเนินการภายใต้โครงการ ERC Sandbox ของ กกพ.เพื่อทดสอบระบบการซื้อขายไฟฟ้าเสมือนจริงไปก่อน  ซึ่งจะเป็นการติดตามดูพฤติกรรมของผู้บริโภคและประสิทธิภาพของระบบว่าจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร​  ทั้งนี้ต้องการให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้ภายในเดือน เม.ย.2563นี้​ ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน

สำหรับโครงการ ERC Sandbox จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรกจะเป็นลักษณะการศึกษา ที่ไม่มีผลกระทบต่อระบบโดยรวม และกลุ่มที่สอง จะเป็นการซื้อขายไฟฟ้าจริงระหว่างประชาชนกับประชาชน หรือ Peer to Peer ผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย  ซึ่งกลุ่มนี้ จำเป็นจะต้องปลดล็อคนโยบาย Enhanced Single Buyer ดังกล่าวเพื่อให้สามารถดำเนินการได้จริง เพื่อดูพฤติกรรมของผู้ซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันว่าจะมีผลกระทบในแต่ละมิติอย่างไร เช่น มิติค่าไฟฟ้า และมิติภาพรวมของระบบ

- Advertisment -

รวมถึง การกำหนดอัตราจัดเก็บค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน(Wheeling charge)สำหรับการซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะของ Peer to Peer ที่ต้องมีการเชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายด้วย

นอกจากนี้จะเสนอ กพช. พิจารณาแนวทางส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ในประเทศไทย ตามนโยบายของภาครัฐ โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และสมาคมยานยนต์ ดำเนินการในลักษณะพื้นที่ Sandbox เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคและตลาดรถยนต์EV ซึ่งจะเสนอ กพช. เห็นชอบกำหนดอัตราค่าบริการชาร์จไฟฟ้าใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น โดยภายใต้ Sandbox นี้ จะใช้เวลาทดลอง 1-2 ปี

ส่วนอัตราค่าบริการชาร์จไฟฟ้าทั่วไปสำหรับพื้นที่ของเอกชนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ Sandbox จะยังคงเป็นไปตามอัตราชั่วคราวที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน

Advertisment

- Advertisment -.