เมื่อเวียดนาม เป็นโอกาสลงทุนธุรกิจผลิตไฟฟ้าของเอกชนไทย รัฐบาลไทยต้องปรับนโยบายอย่างไรเพื่อดึงการลงทุน

- Advertisment-

เมื่อเวียดนาม เป็นโอกาสการลงทุนใหม่ของเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าของไทย ในขณะที่ไทยยังมีปัญหาปริมาณสำรองล้นระบบ แล้วรัฐบาลไทยจะปรับนโยบายด้านพลังงานอย่างไรให้ดึงดูดการลงทุน

เป็นที่น่าสนใจว่าในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมาเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของไทยมีการขยายธุรกิจการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าในประเทศเวียดนามอย่างจริงจัง ศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รวบรวมข้อมูลโฟกัสไปที่ 4 รายใหญ่ที่ไปปักธงลงทุนในเวียดนาม รวมๆกันแล้วนับพันเมกะวัตต์ เป็นเงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท ได้แก่

1. บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)  หรือ ‘BGRIM’  มีการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่แบบติดตั้งบนพื้นดิน หรือ โซลาร์ฟาร์ม ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน คือ โครงการ DAU TIENG 1 และ DAU TIENG 2 (DT1& DT2) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 420 เมกะวัตต์  จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าเวียดนาม ( Electricity of Vietnam  หรือ EVN) ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 3 และ 13 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ในราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 9.35 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 20 ปี

- Advertisment -

นอกจากนี้ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Phu Yen TTP ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 257 เมกะวัตต์ ที่ดำเนินการไปแล้ว และ ยังอยู่ระหว่างพิจารณาขยายการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการใหม่อีกหลายโครงการและบางโครงการน่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

2. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ได้ให้ บริษัท Gulf International Holding Pte. Ltd. (GIH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ลงนามสัญญาซื้อขายหุ้น กับนักธุรกิจในประเทศเวียดนาม เพื่อเข้าซื้อหุ้นทั้งหมด ของ Dien Xanh Gia Lai Investment Energy Joint Stock Company (DGI) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมบนบก (Onshore Wind Farm) ได้แก่ โครงการ Ia Pech 1 และ โครงการ Ia Pech 2 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาโครงการละ 50 เมกะวัตต์รวมทั้งสิ้น 100 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่อำเภอ Ia Grai จังหวัด Gia Lai ในภาคกลางของประเทศเวียดนาม โดยจะผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity หรือ EVN)  เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยมีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโครงการ Ia Pech 1และ โครงการ Ia Pech 2 ภายในปี 2564 โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD)ประมาณไตรมาส 4 ปี 2565

โครงการ TTCIZ-02 โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งที่สองที่บริษัทในกลุ่มของ GULFได้เข้าลงทุนในประเทศเวียดนามตั้งอยู่ที่จังหวัดเต็ยนิญ (Tay Ninh) ประเทศเวียดนาม

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ TTCIZ-01และ TTCIZ-02 ซึ่ง  GULF ถือหุ้นทางอ้อมผ่าน Gulf International Holding Pte. Ltd (GIH) อยู่ร้อยละ 90 ร่วมกับ Than Thanh Cong Group (TTC Group) ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ให้กับ การไฟฟ้าเวียดนาม ไปแล้วเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยโครงการดังกล่าวมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าเวียดนามเป็นระยะเวลา 20 ปี  โดยโครงการ TTCIZ-02 ถือเป็นโครงการโรงไฟฟ้าแห่งที่สองที่บริษัทได้เข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนามซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดเต็ยนิญ (Tay Ninh) ประเทศเวียดนาม บริเวณใกล้เคียงกับโครงการโรงไฟฟ้าแห่งแรก หรือ โครงการโรงไฟฟ้า TTCIZ-01 ซึ่งได้จ่ายไฟเข้าระบบแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2562

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน ธ.ค.2561 บริษัทได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเวียดนามเพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ ร่วมกับสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว ปริมาณ 6 ล้านตันต่อปี ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลกาน้า (Ca Na) อำเภอถ่วนน่าม (Thuan Nam) จังหวัดนิ่งห์ถ่วน (Ninh Thuan) ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเวียดนาม  ซึ่งเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2562 ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ นายเหวียน ซวน ฟุก (Mr.Nguyen Xuan Phuc) นายกรัฐมนตรีเวียดนาม พร้อมด้วย นายเจิน ตวน อัน (Mr.Tran Tuan Anh) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (The Ministry of Industry and Trade (MOIT) ก็เดินทางมาเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ พร้อมสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว ดังกล่าว

3. บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่ล่าสุดทุ่มเงินประมาณ 2,065 ล้านบาท ซื้อโรงไฟฟ้าพลังลม El Wind Mui Dinh ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 37.6 เมกะวัตต์ ที่เวียดนาม ซึ่งเปิดดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์แล้วในจังหวัดนินห์ถ่วน ประเทศเวียดนาม โดยเป็นการลงทุนผ่านบริษัท BRE Singapore Pte. Ltd. (BRES) มีราคารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in-Tariff (FIT) ที่ 8.5 เซ็นต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงเป็นระยะเวลา 20 ปีตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าเวียดนาม

4. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ปักธงธุรกิจของบริษัทฯ ในเวียดนามเป็นครั้งแรก โดยมีโครงการสำคัญ คือ โรงไฟฟ้าพลังงานลม Thanh Phong ขนาดกำลังการผลิต 29.70 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 45 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นโครงการพลังงานลมติดตั้งบนบก ตั้งอยู่ในจังหวัด Ben Tre อยู่ทางทิศใต้ของเมือง โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปีกับการไฟฟ้าเวียดนาม โครงการนี้มีกำหนดจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในเดือนกันยายน ปี 2564 โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 12 เดือน

การที่ประเทศเวียดนาม เป็นตลาดการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าของเอกชนไทย เพราะเศรษฐกิจของเวียดนามกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และไฟฟ้าถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญที่จะมารองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เวียดนามยังขาดแคลน โดยมีการจัดทำแผนแม่บทด้านพลังงานที่ชัดเจน เช่นเดียวกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือแผนพีดีพี ของไทย  มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี และมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าการลงทุน จึงทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)

อย่างไรก็ตาม การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง โดยในมุมมองของนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ให้ข้อสังเกตว่า แม้เวียดนามจะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนได้จำนวนมาก แต่การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)กับเวียดนาม ไม่มีการการันตีการรับซื้อไฟฟ้าไว้ ซึ่งหมายความว่า หากเวียดนามมีไฟฟ้ามากเพียงพอแล้ว อาจปฏิเสธการรับซื้อไฟฟ้าได้ แม้จะมีสัญญา PPA กันอยู่ก็ตาม ซึ่งอยากให้นักลงทุนไทยศึกษาข้อกฎหมายนี้ให้ดีก่อนเข้าไปลงทุนด้วย

สำหรับในมุมบวก เวียดนาม ก็ถือเป็นโอกาสของนักลงทุนไทย  หากประสบความสำเร็จก็จะสามารถสร้างเม็ดเงินกลับเข้ามาในประเทศได้  ขณะที่การลงทุนในไทยยังมีข้อจำกัดเนื่องจากปัจจุบันไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นระบบจึงยังไม่สามารถเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้มาก แต่ข้อดีของการลงทุนในไทยคือ มีความเสี่ยงในการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้าน้อยมาก  เนื่องจากสัญญา PPA มีการการันตีการรับซื้อไฟฟ้าอย่างแน่นอน

ทั้งนี้หากรัฐบาลไทยต้องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนด้านพลังงานกลับเข้ามา  นายคมกฤช มองว่า จำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างแผน PDP เพื่อส่งเสริมการลงทุน โดยเห็นว่าการเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) เป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถดึงดูดการลงทุนได้เป็นอย่างดี แต่รัฐบาลต้องประกาศนโยบายส่งเสริมอย่างชัดเจน ซึ่งไม่ใช่การส่งเสริมด้านการเงินด้วยการอุดหนุนราคาค่าไฟฟ้าเช่นที่ผ่านมา เพราะจะกลายเป็นภาระค่าไฟฟ้าโดยรวมของประชาชนในอนาคต แต่เป็นการส่งเสริมด้านภาษี หรือ สิทธิพิเศษการลงทุนต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการประกาศจากรัฐบาลที่ชัดเจนจะทำให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนและกลับมาลงทุนในไทยได้ในอนาคต

มองเปรียบเทียบเวียดนามและไทย ในด้านพลังงาน น่าจะเป็นโจทย์การบ้านให้รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ได้นำไปคิดวางนโยบายกันต่อ

Advertisment

- Advertisment -.