เผย 26 โครงการจองเค้กขายไฟฟ้าจากขยะชุมชนแล้วกว่า 187 เมกะวัตต์

- Advertisment-

เผย 26 โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน กำลังการผลิตกว่า 221 เมกะวัตต์ปริมาณ​เสนอขาย​ไฟฟ้า​รวม​187 ​เมกะวัตต์​ ที่มีการพัฒนาโครงการไปก่อนล่วงหน้า จะมีความได้เปรียบในการเสนอขายไฟฟ้า เพราะกระทรวงพลังงานซึ่งยังอยู่ระหว่างกำหนดหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้า มีแนวโน้มสูงที่จะใช้แนวทางคัดเลือกผู้ร่วมโครงการแบบใครมาก่อนได้สิทธิ์ก่อน โดยไม่มีการประมูลแข่งขัน เหมือนกรณีโรงไฟฟ้าชุมชน พร้อมระบุทุกโครงการยังไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้จนกว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.จะออกประกาศหลักเกณฑ์​รับซื้อไฟฟ้าและดำเนินการครบถ้วนตามขั้นตอนของกฏหมาย

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ตามที่กระทรวงพลังงานมีแผนจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 จำนวน 400 เมกะวัตต์ นั้น ขณะนี้ทางกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)​ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ความเห็นชอบ ก่อนที่ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)​ที่มีหน้าที่ตามกฏหมายในการออกประกาศหลักเกณฑ์​รับซื้อไฟฟ้าให้สอดคล้องกับนโยบาย โดยคาดว่าจะสามารถออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ภายในปี 2564 นี้

อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชนไปล่วงหน้าก่อนที่กระทรวงพลังงานจะมีการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้า ออกมาแล้ว 26 โครงการ กำลังการผลิตรวมประมาณ 221 เมกะวัตต์ และมีปริมาณที่จะขายไฟฟ้าเข้าระบบรวม 187 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการที่มีเอกชนเป็นเจ้าของโครงการแล้ว 17 โครงการ ส่วนที่เหลืออีก 8 โครงการกำลังหาผู้ร่วมทุน ซึ่งสถานะของโครงการส่วนใหญ่ ยังอยู่ระหว่างพัฒนาในระดับจังหวัด อาทิ นครศรีธรรมราช , สุราษฎร์ธานี, เลย, บึงกาฬ​, สกลนคร, อุบลราชธานี เป็นต้น

- Advertisment -

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ให้เหตุผลถึงการที่ภาคเอกชน ดำเนินการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนไปล่วงหน้า ก่อนที่ภาครัฐซึ่งมีหน้าที่ตามกฏหมายจะออกประกาศหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้า ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเป็นนโยบายของภาครัฐที่ประกาศออกมาตั้งแต่สมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เมื่อปี 2557 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ผ่านมาต่างก็สนับสนุนนโยบายการนำขยะชุมชนมาผลิตเป็นไฟฟ้ามาโดยตลอด ทำให้มีการรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะชุมชนขึ้น โดยที่กระทรวงมหาดไทยได้เข้ามาดูแลโครงการดังกล่าว ภายใต้พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ปี 2560 ทำให้การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ต้องเริ่มจากภาครัฐ คือ องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด อบจ. ,เทศบาล ที่ต้องไปร่วมทุนกับบริษัทเอกชน เพื่อเตรียมพร้อมสร้างโรงไฟฟ้าและรอขายไฟฟ้าเข้าระบบ เมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้า ซึ่งตามระเบียบ กกพ.นั้นจะไม่ซื้อไฟฟ้าจากหน่วยงานรัฐโดยตรง แต่จะซื้อจากเอกชนเป็นหลัก ดังนั้นหน่วยงานรัฐดังกล่าวจึงต้องทำการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้มีบริษัทเข้ามาร่วมทุนและเป็นผู้เสนอขายไฟฟ้าให้ภาครัฐ

โดยในนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน ปริมาณ 400 เมกะวัตต์ กระทรวงพลังงานที่อยู่ระหว่างกำหนดหลักเกณฑ์ และราคารับซื้อไฟฟ้านั้นคาดว่าจะไม่ใช้วิธีการประมูลแบบ​โครง​การ​โรงไฟฟ้า​ชุมชน​ แต่จะเป็นรูปแบบ ใครยื่นเสนอโครงการมาก่อนจะได้รับการพิจารณาก่อน หรืออาจจะใช้วิธีจับฉลาก เป็นต้น ทำให้ผู้ที่มีการเตรียมความพร้อมโครงการไว้ล่วงหน้ามีความได้เปรียบ นอกจากนี้การตัดสินใจเชิงนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่าจะทยอยรับซื้อเป็นเฟส หรือ เปิดรับซื้อทั้งหมด 400 เมกะวัตต์พร้อมกันในคราวเดียว ยังมีผลต่อการเสนอขายไฟฟ้าด้วย โดยหากรัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้าพร้อมกันทั้ง 400 เมกะวัตต์ จะทำให้ เอกชนผู้ที่มีความพร้อมและมีโครงการอยู่ในมือจำนวนมาก เช่นบางรายมี 8 โครงการ จะสามารถเสนอขายไฟฟ้าได้พร้อมกันในคราวเดียว

ทั้งนี้หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนทั้งหมดจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก่อน จากนั้น กกพ.จึงจะดำเนินการประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ ซึ่งคาดว่ากระบวนการต้องใช้เวลาอย่างต่ำอีกประมาณ 3-4 เดือน โดยระหว่างนี้ เอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่พัฒนาโครงการไปล่วงหน้าจะยังไม่สามารถที่จะขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ แม้จะดำเนินโครงการทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตาม

Advertisment

- Advertisment -.