เปิดทาง SPP Hybrid Firm แปลงโฉมเป็นโรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win ขายไฟฟ้าได้แพงขึ้น

- Advertisment-

กระทรวงพลังงานเล็งเปิดทางกลุ่มโรงงานน้ำตาลที่ชนะประมูลโครงการSPP Hybrid Firm เมื่อเดือนส.ค.2560 และยังไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ สามารถที่จะเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ในกลุ่ม Quick Win เพื่อรับอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นได้ แต่จะต้องมีการปรับรูปแบบโครงการให้ชุมชนเข้าไปร่วมถือหุ้น และรับผลประโยชน์จากรายได้ค่าไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ โดยคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน กำหนดวันประชุมนัดแรก 17 ก.พ. 2563 นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ที่เข้าร่วมประมูลในโครงการSPP Hybrid Firm ซึ่งทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าไปเมื่อเดือนส.ค. 2560 และอยู่ในกลุ่มที่ได้รับคัดเลือกให้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 17 โครงการ ปริมาณเสนอขายรวมทั้งสิ้น 300 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตติดตั้งรวม 434 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ส่วนหนึ่งมีแนวโน้มที่จะยกเลิกโครงการ เนื่องจากราคาที่เสนอขายไฟฟ้าในการประมูลครั้งนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 2.44 บาทต่อหน่วย โดยมีการปรับรูปแบบโครงการให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าให้เล็กลงไม่เกิน โรงละ 10เมกะวัตต์ และจัดตั้งประชาคมร่วมกับชุมชนเพื่อให้สามารถเข้าร่วมในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่จะได้รับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าในอัตราที่จูงใจมากกว่า โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อัตรารับซื้ออยู่ที่ 2.90บาทต่อหน่วย ชีวมวลที่กำลังผลิตน้อยกว่าหรือเท่ากับ3เมกะวัตต์อัตรารับซื้อ 4.84 บาทต่อหน่วย หากกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 3เมกะวัตต์ อัตรา 4.26บาทต่อหน่วย ส่วนก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย)อัตรา 3.76 บาทต่อหน่วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ถือเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในเรื่องของวัตถุดิบที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า และมีความพร้อมเรื่องสายส่งที่จะรองรับ เพียงแต่ต้องมีการปรับรูปแบบโครงการให้ชุมชนเข้ามาร่วมถือหุ้น และมีส่วนแบ่งรายได้คืนกลับให้ชุมชนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

- Advertisment -

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กล่าวว่า คณะกรรมการ กำหนดประชุมนัดแรก วันที่ 17 ก.พ. 2563 นี้เพื่อพิจารณารายละเอียดหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน โดยเปิดทางให้กลุ่มโรงงานน้ำตาลที่มีความพร้อมเรื่องพื้นที่ และวัตถุดิบทั้งโมลาส น้ำเสีย เข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในกลุ่ม Quick Win

ทั้งนี้คณะกรรมการจะมีการพิจารณาหลักเกณฑ์ให้รอบคอบ โปร่งใส ชุมชนและประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการมากที่สุด ไม่ให้มีข้อครหาเรื่องของการล็อกสเปก โดยกลุ่ม Quick Win จะต้องมีการประมูลแข่งขัน

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่นำร่องนั้นจะมี จำนวน 4โรง  แบ่งเป็นในส่วนของ กฟผ. 2โรง คือโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ขนาด 1เมกะวัตต์ ที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ โรงไฟฟ้าชีวมวล จากซังข้าวโพด ที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งบอร์ดกฟผ.ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว น่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้ ส่วนอีก 2โครงการ เป็นของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อยู่ที่ จ.นราธิวาส และ ยะลา

Advertisment