เปิดข้อมูลที่ประชุม กพช. เสนอเกณฑ์เสรีก๊าซฯ ให้​แข่งขันโปร่งใส​ ไม่จำกัดวงเฉพาะ​ Shipper​ เอกชน​

- Advertisment-

เปิดข้อมูลประชุม กพช. วาระทบทวนเปิดเสรีกิจการก๊าซระยะที่​ 2​ ปตท. เสนอ 3 หัวข้อใหญ่จัดหา LNG ให้ประเทศ ​ เน้น​การแข่งขันราคาที่โปร่งใส​ ให้​ ​ปตท. มีส่วนร่วม แทนการจำกัดวงให้เฉพาะ Shipper​ เอกชน หวังประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับประโยชน์จากนโยบาย​อย่างแท้จริง​

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ​(กพช.) เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการพิจารณาวาระเรื่องการทบทวนเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ทางบริษัท ปตท.จำกัด​ (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดหา​ LNG​ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ​ ได้มีข้อเสนอ ต่อที่ประชุม กพช.ในการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ใน 3 ข้อหลัก ได้แก่ 1. ด้านการแข่งขันจัดหา LNG 2.ด้านการจัดหา LNG ในฐานะเป็นหน่วยงาน Pool Manager และ 3.การจัดหา LNG กรณี New Supply

โดยในหัวข้อที่ 1. ด้านการแข่งขันจัดหา LNG นั้น ทาง ปตท. ได้เสนอ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ควรให้มีการแข่งขันด้านราคาที่โปร่งใส ไม่ควรจำกัดเฉพาะ ผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ( Shipper ) ที่มีความต้องการใช้ (Demand) ของตัวเองเท่านั้น แต่ควรให้ Shipper ที่มีศักยภาพร่วมการจัดหาด้วย

- Advertisment -

2​. ให้ ปตท.มีส่วนร่วมกับภาครัฐ ในการกำหนดปริมาณการนำเข้า LNG และ หลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG (LNG Benchmark) และ

3. ควรกำหนดสัดส่วนการจัดหา LNG ระยะยาว และ LNG ราคาตลาดจร (Spot LNG) ในระดับที่เหมาะสม

ส่วนหัวข้อที่ 2 ด้านการจัดหา LNG ในฐานะเป็นหน่วยงาน Pool Manager นั้น ปตท.เสนอว่า ปตท.ในฐานะที่เป็น Pool Manager ควรเป็นผู้จัดหา LNG ราคาตลาดจรที่มีความยืดหยุ่น (Spot Flexible) ให้กับประเทศ และควรพิจารณาการกำหนดอัตราค่าบริหารจัดการสำหรับ Pool Manager ในโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ

และหัวข้อที่ 3 การจัดหา LNG กรณี New Supply

ปตท.เสนอว่า การนำเข้า LNG จำนวน 1 ล้านตัน เป็นการนำเข้า LNG เพิ่มเติมรวมใน old Supply ตามความเห็นและมติ กพช.เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 และ 6 ก.ค. 2565 (มติ กพช.เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2565 เห็นชอบให้ ปตท. จัดหา LNG สัญญาระยะยาว ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาวที่มีการลงนามแล้ว 5.2 ล้านตันต่อปี โดยนำต้นทุนการจัดหารวมเข้าไปคำนวณเฉลี่ยในราคา Pool )

การแถลงข่าวมติที่ประชุม กพช.เมื่อวันที่ 13ก.พ.​2566​ ที่ผ่านมา​

อย่างไรก็ตาม มติที่ประชุม กพช. ที่เปิดเผยโดย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน​ นั้น​ ระบุถึงผลการประชุม ที่ให้มีการทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ดังนี้

  1. ธุรกิจต้นน้ำ ให้ผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ( Shipper ) รายเดิมคือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT Shipper และ Shipper ที่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ สามารถจัดหาและนำเข้า LNG ได้ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) กำกับดูแล และกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการจัดหา LNG ตามปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาระ Take or Pay หรือ สัญญาไม่ซื้อก็ต้องจ่าย
  2. ธุรกิจกลางน้ำ ให้ Shipper ทุกราย ในกลุ่มที่นำเข้า LNG เพื่อผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ ( Regulated Market) ขายก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ที่จัดหาได้ให้กับ หน่วยงาน Pool Manager เพื่อนำไปรวมเป็น Pool Gas ของประเทศ และซื้อก๊าซธรรมชาติออกจาก Pool Gas ตามปริมาณที่จัดหาและนำเข้า Pool Gas โดยมอบหมายให้ ปตท. เป็นผู้บริหารจัดการ Pool Gas ของประเทศ (Pool Manager) และให้ กกพ. กำกับดูแลการจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซระหว่าง Shipper กับ Pool Manager
  3. ธุรกิจปลายน้ำ ให้ Shipper ในกลุ่ม Regulated Market ซื้อก๊าซธรรมชาติจาก Pool Manager ในราคา Pool Gas ตามปริมาณก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ที่ Shipper นั้นๆ จัดหาและนำเข้า เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ และ Shipper ในกลุ่มที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ โดยขายให้ภาคอุตสาหกรรมและกิจการของตนเอง (Partially Regulated Market) ให้ขาย LNG ให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติได้โดยตรง

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ กกพ. ร่วมกันพิจารณาเพิ่มเติมแนวทางบริหารและกำกับดูแลโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติที่มีการทบทวนครั้งนี้ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องทำให้เกิดการแข่งขันจากผู้ประกอบการหลายราย และทำให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทุกกลุ่มได้ประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันดังกล่าว

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

​ ด้าน​​​นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า กกพ.กำลังรอเอกสารมติที่ประชุม กพช.อย่างเป็นทางการว่าได้บรรจุข้อเสนอตามที่ ปตท.ได้เสนอต่อที่ประชุม กพช.ที่ผ่านมาหรือไม่ ซึ่งหากบรรจุไว้ กกพ. ก็ต้องปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตามในบางครั้งแม้จะมีการเสนอในที่ประชุม กพช. ด้วยวาจา แต่เอกสารสรุปมติการประชุม กพช. กลับไม่ถูกบรรจุเป็นมติก็มีหลายครั้ง

ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้ ปตท.ร่วมกำหนดปริมาณนำเข้าและราคา LNG Benchmark นั้น เห็นว่า ปตท.ในฐานะที่เป็น Pool Manager ก็สามารถมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการกำหนดปริมาณและราคาได้ แต่ ปตท.ต้องแยกตัวเป็นอิสระจาก ปตท.ที่เป็น Shipper ให้ชัดเจนก่อน

นอกจากนี้ในกรณีการนำเข้า LNG 1 ล้านตัน โดยระบุว่าเป็นการนำเข้าเพิ่มเติมใน 0ld Supply ตามมติ กพช.เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2565 นั้น ก็ต้องพิจารณาว่าเป็นการนำเข้าหลังการกำหนดเรื่อง Take or Pay หรือไม่ ถ้านำเข้าหลังข้อกำหนด Take or Pay ก็เท่ากับว่าเป็นนำข้า LNG ในส่วนของ New Demand ทั้งหมด ที่ต้องพิจารณาตามกฎ New Demand

ด้านแหล่งข่าวในวงการพลังงาน​ระบุว่า​ มติ กพช.​เมื่อวันที่​ 1​ เมษายน​ 2564​ ในเรื่องของการแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2​ ที่เมื่อเวลาผ่านไป​ เกือบ​ 2​ ปี​ และให้มีการทบทวน​ใหม่​ ถือเป็นความผิดพลาดในระดับนโยบาย​ที่ไม่สามารถบริหารจัดการ​ LNG​ นำเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ​ ต้องนำเข้า​ LNG​ ในรูปแบบ​ Spot​ ในสัดส่วนที่สูง​ และมีราคาที่แพง​ จนส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า​

ทั้งนี้​ ในแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2​ ที่มีการทบทวนใหม่นั้น ยังมีลักษณะ​เป็นการจัดแบ่งโควต้า​ให้​เอกชน​แต่ละราย​ นำเข้า​ LNG​ ในใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเอง​ โดยไม่ต้องมีการแข่งขัน​ และไม่จำเป็นต้องได้ราคาที่ถูกที่สุด​ แต่ขอให้อยู่ในราคา​ LNG Benchmark ที่รัฐกำหนด​ โดยสามารถนำ​ต้นทุน​ LNG​ ไปเฉลี่ยรวมกับ​ Pool​ Gas​ ( ราคาเฉลี่ยของก๊าซอ่าวไทย​ +เมียนมา​ + LNG​ สัญญาระยะยาว​ )​ ทั้งๆที่แนวทางที่จะเป็นประโยชน์​กับประชาชนมากที่สุด​ คือ​การ​ กำหนด​ ปริมาณที่ต้องการใช้​ LNG​ ที่เป็น​New​ Demand​ ในแต่ละปี​ และให้​ Shipper​แต่ละราย​รวมทั้ง ปตท.​ แข่งขันจัดหา​ รายใดเสนอราคาต่ำสุด​ ก็ให้สิทธิ์รายนั้น​ เป็นผู้นำเข้า​ หรือให้เข้าใจง่ายๆ​ว่าเป็นการเปิดแข่งขันซื้อ​ LNG​ เข้า​ Pool​ Gas​ ซึ่งจะเกิดประโยชน์​ต่อผู้บริโภค​ มากกว่า​วิธีจัดสรรปันส่วนโควต้า​ โดยใช้​ LNG Benchmark เป็นตัวกำหนด​

Advertisment

- Advertisment -.