เขียนเล่าข่าว EP. 5 น้ำมันแพง ทำไมต้องประหยัด?

- Advertisment-

การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งไม่หยุด ล่าสุด ณ วันที่ 7 มี.ค.65 น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสพุ่งขึ้นมาปิดที่ 125.52 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ปิดที่ 129.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังนานาชาติคว่ำบาตรไม่ทำธุรกรรมทางการเงินกับเครือข่ายธนาคารของรัสเซีย ไม่สั่งซื้อน้ำมันดิบเพราะกลัวมีปัญหาการชำระเงิน รวมทั้งการประกาศถอนการลงทุนของบริษัทพลังงานข้ามชาติที่ลงทุนในรัสเซีย นั้น ทำให้ประเทศไทยในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันดิบสุทธิ ต้องทบทวนนโยบายด้านพลังงานของตัวเองแล้วว่า จะยังคงให้มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นระดับราคาที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงต่อไป หรือจะต้องส่งสัญญาณให้ประชาชนได้เข้าใจสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างตรงไปตรงมา ว่า ของแพง และต้องนำเข้ามาใช้เพราะประเทศตัวเองผลิตได้ไม่พอนั้น จะต้องมีมาตรการใช้อย่างประหยัดหรือให้มีประสิทธิภาพโดยที่ยังรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเอาไว้ให้ได้อย่างไร  

วัชรพงศ์ ทองรุ่ง บรรณาธิการ
ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center (ENC)

โดยข้อมูลที่กรมธุรกิจพลังงานโชว์ให้เห็นถึงตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบเดือน ม.ค. 65 นั้นสะท้อนถึงมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 81,810 ล้านบาทต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นมากถึง 77.5 % จากปริมาณการนำเข้า 926,590 บาร์เรล/วัน หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2.6% หมายถึงว่าเราต้องจ่ายเงินตราต่างประเทศมากขึ้น 77.5 % เพื่อให้ได้น้ำมันดิบเพิ่มอีกเพียง 2.6%

ซึ่งตัวเลขเดือน ก.พ. มี.ค. เม.ย. หลังจากเกิดกรณีรัสเซียรบยูเครน ที่ระดับราคาพุ่งสูงขึ้นไปอีก และรัฐไม่ส่งสัญญาณหรือออกมาตรการรณรงค์ให้ประหยัดการใช้ ประเทศก็จะต้องยิ่งสูญเสียเงินตราต่างประเทศมากขึ้นไปอีกเพื่อซื้อน้ำมันมาให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ ถามว่าระบบเศรษฐกิจของเราจะยังรับมือไหวหรือไม่

- Advertisment -

ประเด็นสำคัญข้อหนึ่งที่กระทรวงพลังงานอาจจะต้องทบทวนนโยบายใหม่ คือการตรึงราคาน้ำมันดีเซลในทุกกลุ่มผู้ใช้ โดยไม่เจาะจงลงไปเฉพาะกลุ่มที่มีความสำคัญอย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้หลายมาตรการ เพื่อตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร  ทั้งการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปอุดหนุนไว้ถึงลิตรละ 5.80 บาท การลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลง จาก 5.99 บาทต่อลิตรเหลือ 3.20 บาทต่อลิตร และบีบค่าการตลาดน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 1.40 บาทต่อลิตร  ซึ่งเมื่อผู้ใช้กลุ่มดีเซลไม่ได้รู้สึกว่าน้ำมันแพง เพราะรัฐไม่ได้ทำให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่ควรจะเป็น ก็ไม่มีแรงจูงใจอะไรที่จะต้องไปประหยัด

ตรงกันข้ามกับกลุ่มเบนซิน ยกตัวอย่างแก๊สโซฮอล์ 95 ที่ใช้กันประมาณ 15 ล้านลิตรต่อวัน และถูกนโยบายทำให้ราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น โดยในโครงสร้างราคาน้ำมัน ณ วันที่ 7 มี.ค 65 (ข้อมูลจากเว็บไซต์​ของ สนพ.) ราคาหน้าโรงกลั่น อยู่ที่ลิตรละ 26.2 บาทต่อลิตร ถูกกว่าดีเซล B7 ลิตรละ 29.4 บาทลิตร อยู่3.2 บาทต่อลิตร  แต่ไปดูราคาจำหน่ายที่หน้าปั๊ม ( PTT Station​และบางจาก ) กลับขายอยู่ลิตรละ 37.75 บาทต่อลิตร ส่วน ดีเซลB7 ขายลิตรละ 29.94 บาทต่อลิตรซึ่งหมายความว่า แก๊สโซฮอล์ 95 ถูกทำให้แพงขึ้นโดยการบวกภาษีสรรพสามิต บวกอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน บวกค่าการตลาด และอื่นๆ ถึง 11.5บาทต่อลิตร  ส่วนดีเซลB7 ถูกทำให้แพงขึ้นไป เพียง 50 สตางค์ต่อลิตรเท่านั้น เมื่อผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ 95 มีความรู้สึกว่าต้องใช้น้ำมันราคาแพง แม้รัฐจะยังไม่ส่งสัญญาณอะไรออกมา ก็ต้องวางแผนประหยัดการใช้ของแต่ละคนอยู่แล้ว

ถ้าดูตามตัวเลขการใช้น้ำมันดีเซล B7 เฉลี่ยเดือน ม.ค. 65 ที่อยู่ที่ประมาณ 62.6 ล้านลิตรต่อวัน (ข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงาน )​ ในขณะที่กลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ใช้อยู่ประมาณ 29 ล้านลิตรต่อวัน ก็ทำให้เห็นแนวโน้มว่าจะมีคนที่อยากจะใช้ดีเซลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะรู้ว่าอย่างไรเสียรัฐคงไม่กล้าที่จะขยับให้ราคาเกิน 30 บาทต่อลิตร ความต้องการที่จะให้เกิดการประหยัดในช่วงที่มีวิกฤตราคาน้ำมันตลาดโลกแพง ก็จะยิ่งไม่เกิดกับคนกลุ่มนี้ โอกาสที่ประเทศจะต้องเสียเงินตราต่างประเทศมากขึ้นโดยที่ไม่ได้แลกมากับความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจก็จะยิ่งมีมากขึ้นเป็นลำดับ

Advertisment

- Advertisment -.