เขียนเล่าข่าว EP 24 -​เราผลิตก๊าซได้ แต่ทำไมค่าไฟถึงแพง?

N4032
- Advertisment-

ในบทบาทของสื่อมวลชนที่อยู่ในสายข่าวพลังงานมานานหลายปี เพื่อนที่เป็นทนายความ ถามผมในวงกินข้าวร่วมกัน เมื่อเร็วๆนี้ว่า ” เราผลิตก๊าซจากอ่าวไทย ที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้เอง แล้วทำไมค่าไฟถึงยังต้องแพง “

คำตอบที่ผมตอบเพื่อนให้เข้าใจง่ายๆแต่ยาวหน่อย และอยาก​เขียนอธิบายให้ผู้อ่านในคอลัมน์เขียนเล่าข่าวเข้าใจด้วยคือ

ประเทศไทยเรามีทรัพยากรก๊าซธรรมชาติในประเทศ ทั้งในอ่าวไทยที่มีการผลิตมากที่สุด และที่อยู่บนบก ที่ไม่มากนัก มีแหล่งสำคัญเช่น สินภูฮ่อม ทางภาคอีสาน แต่ปริมาณการผลิตนั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะรัฐในอดีตต้องการยืดอายุแหล่งผลิต ให้มีใช้ยาวๆถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ไม่ใช่เร่งผลิตเร่งใช้ให้หมดในรุ่นของตัวเอง ทำให้ต้องมีการไปแสวงหาก๊าซจากแหล่งอื่นนอกประเทศ คือ จากพม่า ที่ส่งผ่านมาทางท่อ เพราะระยะทางไม่ไกลกันมาก และก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่เป็นการแปรสภาพก๊าซให้เป็นของเหลวด้วยการทำให้อุณหภูมิ​ติดลบ 160 องศาเซลเซียส​ แล้วขนส่งมาด้วยเรือ นึกภาพเหมือนเอาน้ำใส่ตู้เย็นลอยมาส่ง เวลาจะใช้ประโยชน์จึงค่อยแปรสภาพเป็นก๊าซแล้วส่งไปทางท่อสู่โรงไฟฟ้า

- Advertisment -
Spot ​LNG​ ที่ราคาขยับสูงมาก ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า

ในบรรดาก๊าซจากทั้ง 3 แหล่งที่มานี้ เลขาธิการสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทกำกับดูแลค่าไฟฟ้า เอาข้อมูลมาแสดงให้เห็น ( ตามภาพ )​ ถึงการคาดการณ์ราคาที่ใช้ในการคิดคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ เอฟที งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 เปรียบเทียบกันจะเห็นว่า ก๊าซจากอ่าวไทย ( หลังผ่านโรงแยกก๊าซ )​ นั้นมีราคาต่ำที่สุด คือ 238 บาทต่อล้านบีทียู แต่ใช้ในสัดส่วนประมาณ 45 % ของก๊าซที่ใช้ทั้งหมด

ก๊าซจากพม่า มีราคา 392 บาทต่อล้านบีทียู มีสัดส่วนประมาณ 17 % ส่วน LNG ที่เป็นสัญญาระยะยาว ราคาสูงขึ้นมาเป็น 536 บาทต่อล้านบีทียู มีสัดส่วน 20% และที่สร้างปัญหาต่อต้นทุนค่าไฟมากที่สุด คือ LNG ที่ซื้อจากตลาดจร (SPOT)​ ราคาสูงถึง 1,191 บาทต่อล้านบีทียู และจะต้องใช้มากถึง 18% นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมค่าไฟฟ้า ถึงต้องปรับขึ้น

ถามต่อว่า แล้วกระทรวงพลังงาน ทำอะไรอยู่ คำตอบส่วนหนึ่งอยู่ใน เขียนเล่าข่าว EP 23 เอามาเล่าเพิ่มอีกที คือ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธาน​คณะอนุกรรมการ​ ที่ดูแลเรื่องนี้ นั่งประชุมมากว่า 20 ครั้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์​วิกฤต​พลังงาน ช่วง 4 เดือน ( ม.ค.-เม.ย.2566 )​ ซึ่งมี 3 ส่วนสำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดการใช้ Spot LNG ที่มีราคาแพง เช่น น้ำมันดีเซล ที่ยังมีต้นทุนที่ถูกกว่า ในโรงไฟฟ้าที่สามารถปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากก๊าซมาใช้ดีเซลได้

การขยายอายุโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ใช้ ถ่านหินลิกไนต์ จากเดิมที่ต้องปลดระวาง

มาตรการในการลดดีมานด์ใช้ก๊าซโดยขอความร่วมมือภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีแรงจูงใจให้ดำเนินการ

และการเพิ่มซัพพลายก๊าซ จากแหล่งในอ่าวไทย ซึ่งในส่วนนี้ ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เผย​ถึง แผนงานสำคัญในการจัดหาก๊าซทั้งจากแหล่งในประเทศและเพื่อนบ้าน ที่มีต้นทุนไม่สูง เพื่อช่วยลดผลกระทบในปี 2566 ว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะจัดทำและทบทวนแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเป็นระยะๆ ให้ได้ก๊าซธรรมชาติเข้าระบบเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง พร้อมกำกับดูแลผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญาในการจัดหาก๊าซธรรมชาติและการหยุดซ่อมบำรุงให้เป็นไปตามแผน โดยเชื่อมั่นว่า ก๊าซในแหล่งG1/61 (แหล่งเอราวัณ)​ที่มีปัญหาในปี 2565 เนื่องจากสิ้นอายุสัมปทานและเปลี่ยนผ่านมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต แม้จะผลิตก๊าซได้ต่อเนื่อง แต่ปริมาณยังไม่เป็นไปตามเป้าในช่วงแรกของสัญญา เนื่องจากการเจรจาระหว่างผู้รับสัญญารายใหม่และผู้รับสัมปทานรายเดิมเกี่ยวกับข้อตกลงในการเข้าพื้นที่ และการเจาะหลุมเพื่อเตรียมการผลิตปิโตรเลียมเป็นการล่วงหน้า ล่าช้ากว่าแผน แต่ในปี2566 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้บริหารจัดการโดยประสานผู้รับสัมปทานรายเดิมและผู้รับสัญญารายใหม่ เพื่อให้ผลิตก๊าซเข้าระบบได้เพิ่มมากขึ้นจากปี 2565

เล่ามาถึงบรรทัดนี้ สรุปอีกทีว่าในเดือน ม.ค.-เม.ย.66 ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น เพราะก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะSpot LNG ยังราคาสูงมาก และภาครัฐ กำลังหาแนวทางที่จะหันไปใช้เชื้อเพลิงอื่น ลดดีมานด์ใช้ก๊าซของภาคอุตสาหกรรม และเติมซัพพลายของก๊าซจากอ่าวไทย ที่มีราคาถูกกว่า เพื่อลดผลกระทบ​

ยังดีที่เพื่อนผมไม่ถามต่อว่า แล้วทำไมเราจึงต้องนำเข้า Spot LNG ในสัดส่วนที่สูงแบบนี้ แทนที่จะเป็นLNG ระยะยาว ซึ่งราคาถูกกว่ากันเกือบเท่าตัว ไม่เช่นนั้น คงจะต้องยกยอดไปเขียนเล่าข่าวอธิบายกันอีกตอน

Advertisment

- Advertisment -.