ส่องระบบดูแลท่อก๊าซฯ ปตท. มาตรฐานความปลอดภัยสากล เล็งมาตรการเสริมป้องกันเกิดเหตุซ้ำ

- Advertisment-

จากเหตุการณ์ท่อส่งก๊าซธรรมชาติรั่วและเกิดไฟลุกไหม้ ที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายและ บาดเจ็บ 66 ราย นั้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เข้าให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับ ผลกระทบแล้วอย่างรวดเร็วทันทีที่เกิดเหตุ และเยียวยาความเสียหายอย่างเต็มที่

เบื้องต้นได้มอบเงินเยียวยาแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต รายละ 5 ล้านบาท ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส รายละ 500,000 บาท ผู้ที่ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล รายละ 200,000 บาท และผู้ได้รับบาดเจ็บที่ไม่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล รายละ 50,000 บาท รวมถึงร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่นจัดเตรียมที่พักชั่วคราว จัดหาอาหาร น้ำดื่ม และเครื่องใช้ที่จำเป็นให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกครัวเรือน ส่วนการชดเชยบ้านเรือนและทรัพย์สินที่เกิดความเสียหาย อยู่ระหว่างประเมินมูลค่า โดย ปตท. ยืนยันว่าจะบรรเทาผลกระทบให้ดีที่สุดโดยเร็ว

- Advertisment -

ขณะเดียวกัน ปตท. และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอก ก็ดำเนินการหาสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุอย่างเร่งด่วน เพราะครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงกับระบบท่อส่งก๊าซฯ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเช่นนี้ นับตั้งแต่มีการวางระบบท่อส่งก๊าซฯ ในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2524 หรือ เมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ทั้งระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล มีความยาวรวม 4,255 กิโลเมตร โดยระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติจะเชื่อมต่อแหล่งก๊าซธรรมชาติต่าง ๆ จากแหล่งผลิตในทะเล สู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติและลูกค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ บนบก โดยระบบการบริหารจัดการท่อของ ปตท. เป็นไปตามมาตรฐานสากล ASME B31.8 ที่คำนึงถึงความ ทนทาน มั่นคง และ ประสิทธิภาพในการส่งก๊าซธรรมชาติ ว่าจะสามารถส่งก๊าซธรรมชาติได้อย่างยาวนานและมีประสิทธิภาพ

ระบบควบคุมอัตโนมัติ (Supervisory Control and Data Acquistion System – SCADA) ออนไลน์ 24 ชั่วโมง

จากข้อมูลของ ปตท. มาตรฐานความปลอดภัยของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ตามมาตรฐานสากล ASME B31.8 มีดังนี้

  1. วัสดุ และข้อกำหนดท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
  • เป็นท่อเหล็กกล้า (Steel) ที่มีความแข็งแรงสูง ผลิตจากโรงงานที่ได้รับมาตรฐานสากล และผ่านการทดสอบก่อนส่งมอบ
  1. การป้องกันการผุกร่อน
  • ท่อส่งก๊าซฯ ที่ใช้ ต้องมีการคลือบผิวภายนอกท่อ เพื่อป้องกันการผุกร่อน (Corrosion Coating) และ ใช้ระบบป้องกันการผุกร่อนด้วยไฟฟ้า (Cathodic Protection) ซึ่งออกแบบให้มีอายุการใช้งาน 40 ปี
  1. ระบบควบคุมการทำงานระบบท่อฯ และการสื่อสาร
  • ระบบการส่งก๊าซฯ จะถูกควบคุมการทำงานและตรวจสอบโดยผ่าน ระบบควบคุมอัตโนมัติ (Supervisory Control and Data Acquistion System) หรือระบบ SCADA ที่ศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี มีพนักงานควบคุมตลอด 24 ชั่วโมง
  • สถานีควบคุมก๊าซฯ (Block Valve Station) ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลความดัน อุณหภูมิ และปริมาณการไหลของก๊าซฯ เป็นระยะตลอดแนวท่อ ซึ่งหากมีเหตุผิดปกติ อุปกรณ์เปิด-ปิดวาล์วจะทำงานโดยการสั่งการจากศูนย์ปฏิบัติการโดยตรง ผ่านระบบสื่อสารหลัก เช่น ระบบไมโครเวฟ ระบบใยแก้วนำแสง ระบบวิทยุ และโทรศัพท์ ซึ่งจะเชื่อมโยงทุกจุดตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีระบบดาวเทียมเป็นระบบสำรอง
  1. การตรวจสอบท่อ: ใช้รถยนต์ตรวจการณ์ตรวจสอบตามแนวท่อ หรือเดินตรวจตามแนวท่อ เพื่อสังเกตดูร่องรอยของสภาพแวดล้อม และมีการตรวจสอบสภาพภายในท่อด้วยอุปกรณ์กระสวยอีเล็กทรอนิกส์ หรือ Intelligent PIG (PIG : Pipeline Inspection Gauge) ใส่เข้าไปในท่อ และวิ่งตรวจสอบภายในท่อตลอดแนว พร้อมบันทึกข้อมูลและนำมาวิเคราะห์

ข้อมูลจาก ปตท. ระบุว่า ได้มีการตรวจสอบบำรุงรักษาระบบท่อส่งก๊าซให้มีความแข็งแรงปลอดภัยรองรับแรงดันก๊าซได้อย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานสากล ASME B31.8 ซึ่งมีการตรวจตามมาตรฐานทั้งรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ครบถ้วนตามแผนการบำรุงรักษา และมีการสำรวจพื้นที่วางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (Pipeline Patrolling) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน ASME B31.8 เป็นประจำทุกสัปดาห์

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ ปตท. ท่อก๊าซฯ ทำจากเหล็กกล้า มีความหนาได้มาตรฐาน และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 28 นิ้ว ถูกฝังอยู่ใต้พื้นดินลึกอย่างน้อย 1.5 เมตร (เมื่อรวมตัวท่อจะอยู่ลึกจากผิวดินรวมอย่างน้อย 2.2 เมตร) นอกจากนั้น ยังมีป้ายเตือนตลอดแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ระบุเขตระมัดระวังข้างละ 5 เมตร และหมายเลขโทรศัพท์ 1540 ที่สามารถติดต่อ ปตท. ได้ ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

  

สำหรับท่อที่เกิดเหตุเป็นท่อเส้นที่ 2 ช่วงบางปะกง-วังน้อย เริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2539 อายุการใช้งานปัจจุบัน 24 ปี โดยการลุกติดไฟของก๊าซฯ เกิดได้จากองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ เชื้อเพลิง อากาศ และความร้อน ซึ่งในครั้งนี้ มีก๊าซฯ ที่รั่วเป็นเชื้อเพลิง และได้รับความร้อนจากประกายไฟของสายไฟฟ้า ประกอบกับอากาศ จึงลุกติดไฟ และเนื่องจากเชื้อเพลิงมีปริมาณมาก จึงเกิดการลุกไหม้ ทำให้เกิดการระเบิดจากการลุกติดไฟในครั้งเดียว

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ลงพื้นที่เกิดเหตุก๊าซธรรมชาติรั่วและเกิดเพลิงไหม้ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ

มีการคาดเดาความเป็นไปได้ถึงสาเหตุของความเสียหายในครั้งนี้ ว่าอาจมีโอกาสเกิดจากการเข้ามาก่อสร้างในเขตระบบท่อก๊าซฯ ซึ่ง ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 พื้นที่แนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นเขตระบบโครงข่ายพลังงาน ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ที่หากผู้ใดจะเข้ามาดำเนินการขุด เจาะ หรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายต้องขออนุญาตไปที่ สำนักงาน  กกพ. หรือ ขอคำแนะนำเบื้องต้นจาก ปตท. ในพื้นที่ก่อน

ส่วนกรณีที่มีการดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับอนุญาตแต่มีการฝ่าฝืนการอนุญาตหรือเงื่อนไขประกอบการอนุญาต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้

ปตท. จึงประกาศจะเร่งดำเนินการหาสาเหตุ และพิจารณามาตรการเสริมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก

 


 

ขอบคุณภาพจาก ปตท.

 

 

 

Advertisment

- Advertisment -.