สำนักงาน กกพ.วาง 3 เป้าหมายงานกำกับดูแลพลังงานปี 65 เน้นเพิ่มบทบาทแข่งขันภาคเอกชนในธุรกิจพลังงาน

- Advertisment-

สำนักงาน กกพ. วาง 3 เป้าหมายภายในปี 2565 โดยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานงานกำกับดูแลกิจการพลังงานเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในธุรกิจพลังงานการพัฒนางานกำกับเพื่อรองรับเทคโนโลยีด้านพลังงานบนกระแส Go Green และการยกระดับมาตรฐานการให้บริการดูแลความเป็นธรรมให้ผู้ใช้พลังงาน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า ในปี 2565 สำนักงาน กกพ. วางเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานกำกับดูแลภาคพลังงาน โดยเป้าหมายแรกคือ การปรับโครงสร้างพื้นฐานในงานกำกับกิจการพลังงานทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ที่จะอยู่บนพื้นฐานของการเปิดโอกาสให้บุคคลที่ 3 คือภาคเอกชน สามารถเข้ามาร่วมใช้โครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายพลังงานทั้งไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ คลังเก็บก๊าซธรรมชาติ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างศึกษาปรับปรุงหลักเกณฑ์ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และทยอยประกาศอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ที่ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุง ได้แก่ การวางแนวทางจัดทำหลักเกณฑ์ ข้อกำหนดการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Framework  Guideline) เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้รับใบอนุญาตระบบส่งไฟฟ้าหรือ ผู้รับใบอนุญาตระบบจำหน่ายไฟฟ้าไปดำเนินการจัดทำข้อกำหนดการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Code) และเปิดให้บริการรับส่งพลังงานไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่สนใจ ภายใต้กรอบนโยบาย ต่อไป โดย Third Party Access Framework Guideline จะทยอยนำเข้าสู่การพิจารณาของ กกพ. อย่างต่อเนื่อง

- Advertisment -

 เป้าหมายที่สอง คือ การปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และกระแสพลังงานสีเขียว (Go Green Energy) ได้แก่การสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ในการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)  และธุรกิจต่อเนื่องได้แก่สถานบริการอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station)

โดยทางสำนักงาน กกพ. ได้ผลักดันมาตรการสนับสนุนการติดตั้งสถานีอัดประจุของยานยนต์ไฟฟ้า โดยการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุของยานยนต์ไฟฟ้าและยกเวันค่า Demand Charge ภายใต้เงื่อนไขการบริหารจัดการแบบ Low Priority หรือ การใช้ไฟฟ้าสำหรับ สถานีอัดประจุไฟฟ้า มีความสำคัญเป็นลำดับรอง เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมตามแนวทางของรัฐบาล ในส่วนของมาตรการส่งเสริม EV Charging Station

ในด้านการกำกับดูแลคุณภาพ และมาตรฐานการให้บริการไฟฟ้า นั้นทางสำนักงาน กกพ. ได้ร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)จัดทำมาตรฐานการติดตั้ง ทางไฟฟ้าสำหรับจุดจ่ายไฟยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการอัดประจุไฟฟ้า สำหรับประเภทบ้านอยู่อาศัย อาคารชุด อาคารสำนักงาน และสำหรับประเภทสถานีอัดประจุไฟฟ้า นอกจากนี้ หน่วยงานการไฟฟ้า ได้ดำเนินการออกมาตรฐาน และความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงาน มาตรฐานของอุปกรณ์ ที่ใช้เชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้ารวมทั้งข้อกำหนด การเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า ที่เกี่ยวข้องกับ EV Charging Station ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ.

ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีทางด้านพลังงาน (Energy Transition)  สำนักงาน กกพ. ก็จะมุ่ง สนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน ลดสัดส่วนการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลนำเข้าให้สอดรับกับกระแสการพัฒนาพลังงานสะอาด และพลังงานสีเขียว อาทิ การพัฒนาระบบ การกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อสร้างเสถียรภาพ และความมั่นคงทางพลังงาน การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน (RE) และการส่งเสริมผู้ใช้ไฟฟ้าให้สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Prosumerization)

นายคมกฤช กล่าวว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทาง ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้มีความทันสมัย สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้านพลังงานระดับสากล สำนักงาน กกพ. จะได้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 ภายในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งในการเปิดรับสมัครครั้งนี้จะมุ่งเน้นการทดสอบแพลตฟอร์มหรือนวัตกรรมที่รองรับการซื้อขายพลังงานทดแทนร่วมกับกลไกการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนนโยบายการกำกับ ดูแล กิจการพลังงานของ กกพ. ที่มุ่งเน้นการกำกับเชิงรุก แทนการกำกับดูแลตามหลังซึ่งไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

   
ส่วน เป้าหมายที่สาม การกำกับ ดูแล ในมิติทางสังคม และการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานในปี 2565 จะมุ่งยกระดับ และสร้างความเข้มข้นกับการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ การศึกษา เพื่อปรับปรุงงานคุ้มครองผู้ใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การยกระดับมาตรฐานสัญญาผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย ผ่านคำประกาศสิทธิผู้ใช้บริการไฟฟ้า เพื่อทราบถึงสิทธิและข้อปฏิบัติในการใช้บริการไฟฟ้า อันจะเป็นประโยชน์ในการปกป้องคุ้มครองผู้ใช้บริการไฟฟ้าให้ได้รับความเป็นธรรม อาทิ สิทธิการเข้าถึง ข้อมูลการใช้บริการไฟฟ้า สิทธิการได้รับบริการตามมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการไฟฟ้า
สิทธิการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการไฟฟ้า และสิทธิการร้องเรียนปัญหาการใช้บริการไฟฟ้า

การขยายขอบเขตการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ใช้ไฟฟ้า ได้แก่ แนวทางปฏิบัติการดำเนินการ รับเรื่องร้องเรียน ผลักดันให้มีการจัดระเบียบสายสื่อสารและอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ติดตั้งบนเสาไฟฟ้า เพื่อลดความเสี่ยง และอันตรายในพื้นที่สาธารณะ โดยมีสำนักงาน กกพ. ประจำเขต ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ เป็นเจ้าภาพหลักในการดูแล รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้ใช้พลังงาน รวมไปถึงการให้คำปรึกษา และให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในภาคประชาชน อาทิ โครงการโซลาร์รูฟท็อป ตลอดจนให้สำนักงาน กกพ. ประจำเขต เป็นสถานที่สำหรับรวบรวมขยะพลังงาน เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี อาทิ เช่น แผงโซลาร์เซลส์ชำรุด หรือหมดอายุ เป็นต้น

บทบาทในการกำกับ ดูแล กองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ ตามมาตรา 97(3) เพื่อการพัฒนา หรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าก็ได้มีการกระจายอำนาจในการพิจารณา จัดทำ และอนุมัติโครงการพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าสู่พื้นที่ พร้อมกับให้มีการต่อยอดกับโครงการในระบบงบประมาณของส่วนราชการในพื้นที่ การยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ และกำกับดูแล ซึ่งสามารถทำให้การจัดทำโครงการสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ จัดวางระบบการกำกับ ตรวจสอบ การใช้เงินด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และชุมชนในพื้นที่ด้วย

Advertisment

- Advertisment -.