สัญญาณเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้น ปตท. แจ้งผลประกอบการครึ่งปี 64 ดีขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ

- Advertisment-

สัญญาณเศรษฐกิจไทย​เริ่มฟื้นจากผลกระทบโควิด-19 โดยผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2564 ของ ปตท. และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายจำนวน 1,011,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปี 2563 (1H2563) จำนวน 186,201 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.6 โดยมีราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากปีก่อน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าว​พลังงาน (Energy News​ Center-ENC​)​ รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2564 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือถึง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อนำส่งงบการเงินเฉพาะบริษัทและงบการเงินรวมสำหรับงวด 3 เดือน และ งวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชี และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบของ ปตท. แล้ว

โดยสรุปผลการดำเนินงานของ ปตท. และบริษัทย่อย มีรายละเอียดดังนี้

- Advertisment -

ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2564 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2564 ในไตรมาส 2 ปี 2564 (2Q2564) ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายจำนวน 533,256 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาส 1 ปี 2564 (1Q2564 ) จำนวน 55,419 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.6 ส่วนใหญ่จากรายได้ของกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งรายได้ของกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติปรับเพิ่มขึ้น โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯมีราคาขายปรับเพิ่มขึ้นตามราคาปิโตรเคมีอ้างอิงที่สูงขึ้น ประกอบกับธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายมีปริมาณขายก๊าซฯและราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น

ใน 2Q2564 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 113,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,169 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.9 จาก 1Q2564 จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ปรับเพิ่มขึ้นตามปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น จากการเข้าซื้อโครงการโอมาน แปลง 61 ในเดือนมีนาคม 2564 และโครงการมาเลเซีย-แปลงเอช ที่เริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 รวมถึงราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันและก๊าซฯที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้กลุ่มธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ผลการดำเนินงานยังคงแข็งแกร่งตามรายได้ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นตามที่กล่าวข้างต้น แม้ว่ากำไรจากสต็อกน้ำมันของกลุ่ม ปตท. จะปรับลดลงประมาณ 4,000 ล้านบาท ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขั้นในอัตราที่น้อยกว่าในไตรมาสก่อน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจอื่นๆใน 2Q2564 ใกล้เคียงกับ 1Q2564

สำหรับกำไรสุทธิของ ปตท. และบริษัทย่อย ใน 2Q2564 จำนวน 24,578 ล้านบาท ลดลง 8,010 ล้านบาทหรือร้อยละ 24.6 จาก 1Q2564 ส่วนใหญ่มาจากการรับรู้รายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำตามสัดส่วนของ ปตท. โดยมีการรับรู้การขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนในการร่วมค้าของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC)ประมาณ 1,500 ล้านบาท ขณะที่ใน 1Q2564 มีการรับรู้กำไรจากการซื้อธุรกิจในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรมของโครงการโอมาน แปลง 61 ประมาณ 7,000 ล้านบาท สุทธิกับการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ที่เกิดจากการสำรวจและประเมินค่าบางส่วนของโครงการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศบราซิล ประมาณ 2,900 ล้านบาท ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) รวมทั้งมีการขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้

ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2564 เปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 ใน 2Q2564 ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายจำนวน 533,256 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2563 (2Q2563) จำนวน 191,931 ล้านบาท หรือร้อยละ 56.2 จากเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ

โดยรายได้ของกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น รวมถึงธุรกิจน้ำมันเพิ่มขึ้น จากราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีในตลาดโลก รวมถึงรายได้ของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่ปรับขึ้นตามราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่ปรับเพิ่มขึ้น ใน 2Q2564 ปตท. และบริษัทย่อยมี EBITDA จำนวน 113,166ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58,958ล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 100.0 จาก2Q2563 โดยหลักมาจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น โดยเฉพาะธุรกิจปิโตรเคมีที่มีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตามส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับวัตถุดิบทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงธุรกิจการกลั่นที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากกำไรสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นประมาณ 7,000 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นจากสิ้นไตรมาส 1Q2564 ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น แม้ว่ากำไรขั้นต้นจากการกลั่น (Market GRM) ทรงตัวที่1.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้กำไรขั้นต้นจากการกลั่นรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน (Accounting GRM) ปรับเพิ่มขึ้นจากขาดทุน 1.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ใน 2Q2563 เป็นกำไร 4.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ใน 2Q2564

ในส่วนของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นจากปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น โดยหลักมาจากโครงการโอมาน แปลง 61 จากการเข้าซื้อธุรกิจตามกล่าวข้างต้นและราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น รวมทั้ง กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานดีขึ้น โดยหลักมาจากราคาขายเฉลี่ยที่อ้างอิงราคาปิโตรเคมีและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และจากปริมาณขายก๊าซฯและราคาขายลูกค้าอุตสาหกรรมที่อ้างอิงราคาน้ำมันเตาที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซฯ นอกจากนี้ ธุรกิจน้ำมันมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากกำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นตามราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น โดยหลักมาจากน้ำมันอากาศยาน เนื่องจากใน 2Q2563 มีมาตรการ Lockdown ที่เข้มข้นกว่า 2Q2564

สำหรับกำไรสุทธิของ ปตท. และบริษัทย่อย ใน 2Q2564 จำนวน 24,578 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,525ล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 100.0 จาก 2Q2563 ตาม EBITDA ที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่ามีการรับรู้รายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำตามสัดส่วนของ ปตท. โดยหลักมาจากการรับรู้การขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนในการร่วมค้าของ GC ประมาณ 1,500 ล้านบาท ขณะที่ใน 2Q2563 มีการรับรู้การขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยหลักมาจากโครงการมาเรียนา ออยล์แซนด์ ของ PTTEPรวมทั้งมีการขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์การขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและภาษีเงินได้ที่เพิ่มขึ้นด้วยใน 2Q2564

ผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี2564 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 (1H2564) ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายจำนวน 1,011,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปี 2563 (1H2563) จำนวน 186,201 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.6 จากเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากปีก่อน


ใน 1H2564 ปตท. และบริษัทย่อยมี EBITDA จำนวน 216,163ล้านบาท เพิ่มขึ้น 129,570ล้านบาทหรือมากกว่าร้อยละ 100.0 โดยหลักมาจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลจากธุรกิจการกลั่นที่มีกำไรสต๊อกน้ำมันประมาณ 21,000ล้านบาท ใน 1H2564 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 เทียบกับการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันประมาณ 30,000ล้านบาทใน 1H2563 ประกอบกับ Market GRM ที่เพิ่มขึ้นจาก 1.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ใน 1H2563 เป็น 1.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ใน 1H2564 โดยหลักมาจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินกับน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ Accounting GRM ปรับเพิ่มขึ้นจากขาดทุน 4.7 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ใน 1H2563 เป็น 5.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ใน 1H2564 รวมถึงผลการดำเนินงานของธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งปรับเพิ่มขึ้นตามส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับวัตถุดิบสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์โดยรวมที่ปรับสูงขึ้น

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดยหลักมาจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ตามราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่สูงขึ้น รวมทั้ง ปริมาณขายก๊าซฯและราคาขายลูกค้าอุตสาหกรรมที่อ้างอิงราคาน้ำมันเตาที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนค่าเนื้อก๊าซที่ปรับลดลง ส่งผลให้ธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซฯ มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น นอกจากนี้ผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมปรับเพิ่มขึ้นตามปริมาณขายและราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มธุรกิจน้ำมันมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเช่นกันจากกำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น แม้ปริมาณขายโดยรวมจะปรับตัวลดลงโดยหลักมาจากน้ำมันอากาศยานที่ปริมาณการขายยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเท่าในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19

ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิใน 1H2564จำนวน 57,166ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46,667 ล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 100.0 จาก 1H2563 ตาม EBITDA ที่เพิ่มขึ้น และมีการรับรู้รายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำตามสัดส่วนของ ปตท. โดยหลักมาจากการรับรู้กำไรจากการซื้อธุรกิจในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรมของโครงการโอมาน แปลง 61 ประมาณ 7,000 ล้านบาท สุทธิกับการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ที่เกิดจากการสำรวจและประเมินค่าบางส่วนของโครงการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศบราซิล ประมาณ 2,900 ล้านบาท ของ PTTEP และ การรับรู้การขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนในการร่วมค้าของ GC ประมาณ 1,500 ล้านบาท ขณะที่ใน 1H2563 มีการรับรู้การขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยหลักมาจากโครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ของ PTTEPรวมทั้งมีการขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ การขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและภาษีเงินได้ที่เพิ่มขึ้นใน 1H2564

สถานะการเงินของ ปตท. และบริษัทย่อย ณ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 2,823,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 279,714 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.0 จาก ณ 31 ธันวาคม 2563 สาเหตุหลักมาจากมูลค่าที่ดิน อาคารและอุปกรณ์เพิ่มขึ้น 95,215 ล้านบาท จากการเข้าซื้อธุรกิจของ PTTEP รวมถึงลูกหนี้และสินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น ในขณะที่มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 1,407,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 149,656 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.9 ซึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินกู้ยืมระยะสั้นและระยะยาวจำนวน 78,813 ล้านบาท โดยหลักมาจากการออกหุ้นกู้สกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ ของ GC ประกอบกับเจ้าหนี้การค้าที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนการซื้อสินค้าและวัตถุดิบที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ มีส่วนของผู้ถือหุ้น 1,415,903 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 130,058 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.1 โดยหลักมาจากการเพิ่มทุนของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และ กำไรสุทธิของ ปตท. และบริษัทย่อยใน 1H2564 สุทธิด้วยการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการครึ่งหลังของปี 2563

Advertisment

- Advertisment -.