‘สมคิด’ สั่ง ก.อุตสาหกรรม จัดทัพโรดโชว์ชิงนักลงทุนจีนย้ายฐานมาไทย ก.ย.นี้

- Advertisment-

รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายรัฐมนตรีอุตสาหกรรม จัดทีมเดินสายชักจูงนักลงทุนจีนที่เตรียมย้ายฐานผลิตไปเวียดนามกลับเข้ามาลงทุนในไทย พร้อมสั่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มมาตรการส่งเสริมการลงทุนแข่งเวียดนามที่มีข้อได้เปรียบทั้งด้านค่าแรงและเทคโนโลยี คาดโรดโชว์ต้นเดือนกันยายน 2562 นี้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เข้าตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงและหน่วยงานในสังกัดร่วมประชุมเพื่อรับมอบนโยบาย โดยรองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ไปรวบรวมรายชื่อบริษัทจีนที่เตรียมย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนาม โดยเร่งจัดทีมกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ออกไปชักจูงการลงทุน พร้อมกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่จะสามารถโน้มน้าวใจให้บริษัทจีนเหล่านี้ตัดสินใจมาลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ นอกจากจะใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI แล้ว หากจำเป็นต้องใช้งบสนับสนุนเพื่อดึงดูดการลงทุนก็มีวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท สามารถนำไปใช้ดำเนินการได้ เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันของไทยขณะนี้ไม่ได้ดีเมื่อเทียบกับเวียดนามซึ่งมีต้นทุนค่าแรงถูกกว่าและมีเทคโนโลยีที่ดีกว่าไทย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

“(รมว.อุตสาหกรรม) จะต้องไปหารายชื่อและประกบบริษัทจีนที่กำลังคิดจะย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามเพื่อแย่งชิงบริษัทเหล่านี้ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ฉะนั้น บีโอไอต้องเข้ามาสนับสนุนด้วยการจัดมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มากกว่าเวียดนาม หากไม่ทำเช่นนี้จะไม่มีอะไรไปสู้กับเวียดนามได้ เพราะวันนี้ แม้แต่โตโยต้าที่มีฐานการผลิตใหญ่ในไทย ก็ยังกล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะลงทุน เช่น ลงทุนรถยนต์ EV หากไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ทำงานเชิงรุก ในอนาคตการลงทุนก็จะมุ่งไปสู่เวียดนาม ดังนั้น รมว.สุริยะ จึงต้องพาทีมไปแย่งชิงกลุ่มเป้าหมายจากเวียดนามมาให้ได้“ นายสมคิด กล่าว

- Advertisment -

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ นายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้เข้าพบและหารือ ทำให้ทราบว่าสหรัฐฯ กำลังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “อินโด-แปซิฟิก” (Indo-Pacific) เพื่อเชื่อมโยงการค้ากับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะไทยที่เป็นผู้นำของอาเซียน จึงต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ขณะเดียวกันการที่ประเทศไทยเป็นผู้นำการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) จะเป็นประตูการค้าให้สหรัฐฯ สามารถเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนกับประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ได้มากยิ่งขึ้น สะท้อนว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในต้นเดือนกันยายน 62 นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและ BOI จะเดินสายชักจูงการลงทุนที่ประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย พร้อมกับพิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เวียดนามให้กับนักลงทุน เพื่อจัดทำมาตรการให้เทียบเท่าเวียดนามและสามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งต้องดูว่าจะสามารถเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้แก่นักลงทุนอย่างไรได้บ้าง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังกล่าวถึงความคืบหน้าบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยกรณีสั่งปิดเหมืองทองคำ จังหวัดพิจิตร ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการระงับข้อพิพาทตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) โดยในเดือนพฤศจิกายนนี้ คณะอนุญาโตตุลาการจะมีการพิจารณาข้อพิพาทเป็นครั้งแรก ว่า ขณะนี้ทางผู้บริหารของอัคราฯ ได้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอเจรจากับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ก่อนที่กระบวนการพิจารณาของศาลจะเริ่มขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี และในเรื่องนี้ กพร. ได้จ้างทีมทนายความดูแลอยู่แล้ว โดยในวันพรุ่งนี้ (14 ส.ค.) ตนเองจะได้หารือกันในประเด็นดังกล่าวกับ กพร. เพื่อรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการ รวมถึงข้อได้เปรียบเสียเปรียบของรัฐบาล ก่อนการหารือร่วมกับผู้บริหารของบริษัท อัคราฯ ต่อไป

“ขณะนี้ได้รับแจ้งจากทางอัคราฯ ว่าอยากเจรจากับ กพร. มากกว่า เพราะไม่อยากให้ยืดเยื้อไปจนถึงการต่อสู้กันในชั้นศาล ดังนั้นจึงมอบหมายให้นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดี กพร. พิจารณาในเรื่องนี้แล้ว” นายสุริยะ กล่าว

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารอัคราฯ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เงื่อนไขการเจรจา คือ ประเด็นการชดเชยความเสียหายให้กับเหมืองอัครา จ.พิจิตร ตลอดระยะเวลาที่ถูกสั่งปิดดำเนินการ และยืนยันว่าหากคิงส์เกตฯ จะลงทุนในไทยต่อไปจะต้องไม่ถูกรัฐบาลสั่งปิดโดยไร้ข้อพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ หากการเจรจาเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย บริษัทก็พร้อมที่จะยกเลิกการฟ้องร้องรัฐบาลไทย

Advertisment

- Advertisment -.