ศึกหนักกองทุนน้ำมันฯ ภาระชดเชยราคาน้ำมันชีวภาพและLPG พุ่งสูงกว่า 1,600 ล้านต่อเดือน

cof
- Advertisment-

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเจอศึกหนัก ราคาเชื้อเพลิงชีวภาพทั้ง B100 และ เอทานอล รวมทั้งราคาLPG ตลาดโลก ปรับพุ่งสูง ส่งผลให้ต้องใช้เงินกองทุนฯในการอุดหนุนราคาเพิ่มสูงขึ้น รวมประมาณ 1,620 ล้านบาทต่อเดือน โดยรัฐมนตรีพลังงาน สั่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ติดตามสถานการณ์ราคาใกล้ชิด  ในขณะที่ให้มีการศึกษาโครงสร้างราคาเอทานอลใหม่ให้เหมาะสมก่อนประกาศส่งเสริมแก๊สโซฮอล์E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐาน ชี้หากการชดเชยยังอยู่ในระดับสูง ไม่ถึง 2 ปี กองทุนน้ำมันฯจะติดลบ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประสานข้อมูลกับกรมการค้าภายใน เพื่อตรวจสอบเหตุผลการปรับขึ้นราคาของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์100% ( B100 )และเอทานอล ที่เป็นส่วนผสมสำคัญในน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอลล์  เนื่องจากส่งผลกระทบต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องนำเงินไปอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพดังกล่าว ถึง 860 ล้านบาทต่อเดือน

โดยราคา B100 ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 42.85 บาทต่อลิตร สูงขึ้นกว่าปี 2563 ที่เคยอยู่ระดับประมาณ 30 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคาเอทานอล ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 26 บาทต่อลิตร จากเดิมอยู่ที่ระดับประมาณ 20  บาทต่อลิตร ซึ่งแพงกว่าราคาเนื้อน้ำมันดีเซลและเบนซิน (ราคาเนื้อน้ำมันวันที่ 19 ม.ค. 2564  ดีเซลอยู่ที่ 14.36 บาทต่อลิตร เบนซินอยู่ที่ 11.73 บาทต่อลิตร )

- Advertisment -

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานมีแนวทางเบื้องต้นในการแก้ปัญหาราคา B100 แพง โดยอาจให้กรมธุรกิจพลังงานปรับลดสัดส่วนการผสม B100 ในน้ำมันดีเซลลง จากปัจจุบันผสมอยู่ 10% ในทุกลิตร เหลืออยู่ระดับ 3-5% แทน เพื่อลดจำนวนเงินที่ต้องนำไปชดเชยราคาลง หรือปล่อยให้ประชาชนบางส่วนนิยมใช้ดีเซลB7 ( น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7% ในทุกลิตร) ต่อไปก่อน

ในโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปวันที่ 19 ม.ค.2564 มีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับน้ำมันเบนซิน 6.58 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์95 E10 และแก๊สโซฮอล์91 E10 เท่ากันที่ 0.62 บาทต่อลิตร ดีเซลB7 จัดเก็บ 1 บาทต่อลิตร ในขณะที่ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องจ่ายเงินเพื่ออุดหนุนราคา ดีเซล (ดีเซล B10 ) จำนวน 2.50 บาทต่อลิตร ดีเซลB20 จำนวน 4.16 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์E20 จำนวน 2.28 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์E85 จำนวน 7.13 บาทต่อลิตร และ LPG จำนวน 7.08 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้กองทุนน้ำมัน มีรายจ่ายที่ใช้ชดเชย มากกว่า รายรับที่ได้ โดยทั้งผู้ใช้น้ำมันเบนซิน และ ดีเซลB7 กลายเป็นผู้แบกรับภาระ

โดยสถานะกองทุนน้ำมันฯ ณ ปัจจุบัน มีเงินสุทธิ 26,514 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินในบัญชีน้ำมัน 36,042 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 9,528 ล้านบาท โดยหากยังต้องนำเงินไปสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพดังกล่าว 860 ล้านบาทต่อเดือน และต้องนำเงินมาสนับสนุนราคา LPG อีก 760 ล้านบาทต่อเดือน รวมเป็นประมาณเดือนละ 1,620 ล้านบาท เพื่อให้ระดับราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ท่ามกลางสถานการณ์ราคา LPG ตลาดโลกพุ่งสูงมาก (สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาแตะระดับ 595 เหรียญสหรัฐต่อตัน ) คาดว่ากองทุนฯจะเหลือเงินดูแล LPG ได้อีกไม่เกิน 9 เดือนก็จะเต็มกรอบวงเงิน ที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ได้ขยายจาก10,000 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท และภายในไม่ถึง 2 ปี เงินกองทุนน้ำมันฯจะติดลบ

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานมีนโยบายตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมไว้ถึงเดือน มี.ค. 2564 โดยหลังจากนั้นจะต้องพิจารณาว่าจะขยายระยะเวลาการตรึงราคาต่อไปอีกหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน วันที่ 19 ม.ค. 2564 นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้สั่งการให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ทบทวนการปรับโครงสร้างราคาเอทานอลใหม่ให้เหมาะสมและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง รวมทั้งให้การผลิตและการใช้สอดคล้องกัน เพื่อรักษาสมดุลรองรับนโยบายการกำหนดให้น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ และยกเลิกการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ในอนาคตต่อไป

Advertisment